Select Page

วันนี้ (26 มี.ค.63) เวลา 10.30 น. พลเรือตรีสมเกียรติ  ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้สัมภาษณ์ บริเวณศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID -19  ณ. ศอ.บต. จากกรณีที่มีผู้ปกครองในพื้นที่ จชต. สอบถามถึงการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้กว่า 27 ประเทศทั่วโลกว่า การให้ความช่วยเหลือและดูแลนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศโลกมุสลิมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค COVID -19  อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย นั้น ศอ.บต. ทำหน้าที่ประสานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ รวมทั้งสมาคมนักเรียน นักศึกษาไทยในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเตรียมการอำนวยความสะดวกเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย และนักศึกษาไทยสามารถเดินทางกลับมาได้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานทูตอินโดนีเซีย นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัคราชฑูต ณ.กรุงจากาตาร์ ได้ดูแลนักศึกษาในประเทศอย่างดี โดยได้ส่งงบประมาณในพื้นที่ขาดแคลนเพื่อให้นักศึกษาจัดหาอาหารแห้งและหน้ากากอนามัย เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ศอ.บต. ทำการประสานทุกหน่วยงานเพื่อประสานข้อมูลข่าวสาร ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าได้กังวล และยืนยันว่า ยังไม่มีการเช่าเหมาลำสายการบินเพื่อไปรับตัวนักศึกษากลับมาในช่วงนี้อย่างที่มีข่าวลือออกไป ส่วนจำนวนนักศึกษาไทยทั้ง 27 ประเทศทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ 11,069 คน

สำหรับ ศอ.บต. จัดตั้งศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลกระทบโรค COVID -19 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพการสนับสนุน เติมเต็มการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข และจังหวัด โดยจัดทำแผนการรับมือในภาวะวิกฤติ และแผนต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น สนับสนุนการทำงานของจังหวัด  ส่วนแผนการต่อเนื่องในระยะยาวนั้น ด้านเศรษฐกิจ จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในลักษณะตลาดประชารัฐ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพ และในราคาที่เหมาะสม เตรียมพร้อมกระจายสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล และการให้ความช่วยเหลือด้านสังคม โดยจะร่วมกับผู้ว่าราชการในพื้นที่จัดตั้งโรงครัวเคลื่อนที่ โดยใช้วัด  มัสยิดเป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง ในส่วนด้านการศึกษา จะมีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ สื่อสารให้ครอบคลุมหมู่บ้านที่มีนักศึกษากลับบ้าน แต่ยังมีกิจกรรม Online ที่จะต้องดำเนินการ เช่น การเรียนการสอน Online การสอบ Online และด้านการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ นั้นได้ใช้หลักการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี และให้ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชี้แจงอีกทางหนึ่ง  สุดท้าย เลขาธิการ ศอ.บต. เน้นย้ำให้ประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งต่างๆ ของผู้ว่าราชการจังหวัด ผอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งได้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามประกาศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัย ชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องเราเอง

 278 total views,  2 views today