Select Page

จุดเริ่มต้นของนโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการบริหารราชการส่วนกลาง และมีพื้นที่ติดกับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ทั้งด้าน สังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ภาพลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความไม่สงบ สภาพปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ทั้งในด้านสังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกันและหวาดระแวงในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของ รัฐ กับประชาชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายใน การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะในลักษณะพื้นที่พิเศษ โดยในอดีตนโยบายที่กำหนดขึ้นมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง ต่อมา ในปี 2521 รัฐบาลจึงพิจารณากำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาค ใต้ ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทุกด้านให้สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2521-2540)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 24 มกราคม 2521 เป็นนโยบายฉบับแรกที่ครอบคลุมการไขปัญหาทุกด้าน มุ่งให้เกิดการประสานงานระหว่างส่วนราชการที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การเสริมสร้างความสงบสุขในพื้นที่และสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศมุสลิม ที่สำคัญ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2524 ในการแปลงนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

กำเนิด ศอ.บต. : จุดเริ่มต้น ความไว้วางใจของประชาชน สู่ปัจจุบัน
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ประสบปัญหาด้านความมั่นคง อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบสุขของประชาชนโดยส่วนรวม ปัญหาดังกล่าวมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคส่วนอื่นของ ประเทศ รัฐบาล ได้มุ่งเน้นให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดและกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่ง ชาติสำหรับพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ โดยมีขอบเขตคลอบคลุมการดำเนินงาน ทั้งในด้านการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2523 เห็นชอบการปรับปรุงระบบการบริหารงาน และปรับปรุงประสิทธิภาพข้าราชการและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ที่สภาความมั่นคงได้เสนอแนะ และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2524 ลงวันที่ 20 มกราคม 2524 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต. และพตท.43 ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โดยให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ สนับสนุนการดำเนินงานทั้งปวงให้บรรลุผล

การจัดตั้งและภารกิจ
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เป็นหน่วยงานอำนวยการระดับพื้นที่ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัด ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2524 โดยพัฒนาจากศูนย์ประสานงานการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) ของกรมการปกครองที่มีอยู่เดิม ทำน้าที่เร่งรัด กำกับ ดูแล ประสานงาน ผนึกกำลังและติดตามประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานฝ่ายพลเรือนและตำรวจใน พื้นที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยว กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักงานด้านสังคมจิตวิทยา การเมือง การปกครอง การพัฒนาประสิทธิภาพข้าราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม กาเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการประสานการปฏิบัติงานกับส่วนราชการฝ่ายทหาร และกองบัญชาการผสม พลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) ที่เป็นหน่วยงานอำนวยการ ที่จัดตั้งพร้อมกัน แต่มีภารกิจหลักในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ภายใต้การกำกับดูแลของแม่ทัพภาคที่ 4 และมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นรองประธาน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

ศอ.บต. : จากอดีต ถึงปัจจุบัน
การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนโดยจัดตั้งกลไกพิเศษ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัตินอกเหนือจากกลไกปกติ และมีพัฒนาการมาตามลำดับ กล่าวคือ

ศอ.บต. ในอดีต
ปี 2524 คำสั่ง สร. ที่ 8/2524 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2524 ศอ.บต.รับผิดชอบงานด้านการพัฒนา และพตท.43 รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ขึ้นตรงต่อแม่ทัพภาคที่ 4
ปี 2539 คำสั่ง สร. ที่ 56/2539 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2539 ปรับปรุงกลไกขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ปี 2545 ได้มีคำสั่งยุบ ศอ.บต. และพตท43 โอนภารกิจการแก้ไขปัญหา ให้หน่วยงานปกติ
ปี 2547 คำสั่ง นร. ที่ 69/2547 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2547 จัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.) รับผิดชอบเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ปี 2549 ได้มีการรื้อฟื้น ศอ.บต. และ พตท. ขึ้นตามคำสั่ง นร. ที่ 207/2549 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2549 อยู่ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน.
ปี 2551 ศอ.บต. และพตท. เป็นหน่วยงานในสังกัด กอ.รมน. ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ศอ.บต. ในปัจจุบัน
จากการถอดบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาได้แยก บทบาทของฝ่ายปราบ (ไม้แข็ง) และฝ่ายปลอบ (ไม้นวม) แยกงานด้านความมั่นคงและงานด้านการพัฒนาออกจากกัน ทำให้ประชาชนไม่ขาดที่พึ่ง มีที่ยืน มีเวลาผ่อนคลายทำให้งานด้านการพัฒนามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น ทั้งบทบาทการชี้นำทางยุทธศาสตร์ให้หน่วยงาน Function ดำเนินการ และบทบาทเชิงรุกด้านการพัฒนา เข้าหาประชาชนในพื้นที่ เป็นที่พึ่งและไว้วางใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ในยุคที่ผ่านมา ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการบริหารจัดการ เนื่องจากไม่ได้มีฐานะเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการบริหารแผนงาน แผนเงิน และแผนคน รวมทั้งระเบียบ กฎหมาย และมติ ครม. ต่างๆ ไม่มีความยืดหยุ่น จึงได้มีการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2553 โดยกำหนดให้ ศอ.บต.เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ด้านการบริหารงานมีเอกภาพ
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งกอ.รมน. และ ศอ.บต. ทำให้มีเอกภาพ เชิงนโยบาย
ศอ.บต. เป็นศูนย์บูรณาการแผนงาน/โครงการของหน่วยงาน ที่ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ใช้ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงาน

ด้านประสิทธิภาพ
เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้การบริหารและการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว ทันต่อสถานการณ์
มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกย่อว่า กพต. จำนวน 36 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน มีรัฐมนตรี 17 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 คน ผู้แทนภาคประชาชน 5 คน เป็นกรรมการ มีเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน/โครงการ/งบประมาณ รวมทั้งเร่งรัด กำกับ ติดตาม การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนทำหน้าที่ให้ความเห็นในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้สอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ รวมทั้งให้คำปรึกษา เสนอแนะ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของ ศอ.บต. ให้มีประสิทธิภาพ

ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
มีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดแดนภาคใต้ โดยคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 49 คน

บทบาท ภารกิจ
ศอ.บต. ยึดหน้าที่ตามมาตรา 9 แห่ง พรบ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ ศอ.บต. มีหน้าที่ 3 ส่วนคือ

ส่วนแรก การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรา 9 (1) ถึง (5)
(1) จัดทำ “ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาให้ความ เห็นก่อนเสนอ กพต. ให้ความเห็นชอบ

(2) จัดทำแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

(3) “เสนอแนะและบูรณาการ แผนงาน และโครงการในด้านการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานอื่นของรัฐ” ที่ดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการตาม (2)

(4) ดำเนินการตามแผนงานและโครงการต่อเนื่องจากแผนงานและโครงการที่หน่วยงานของ รัฐ ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะส่งผลเสียต่อการแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้

(5) กำกับ เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือนให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการตาม (2)

ส่วนที่สอง หน้าที่ที่ ศอ.บต. ต้องดำเนินการ มาตรา 9 (6) – (16) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
(6) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยการรับเรื่องราว ร้องทุกข์ให้ความช่วยเหลือ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(7)ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความ เสียหายและผู้ได้ระบผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมา จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามระเบียบที่ กพต. กำหนด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์จากผู้นั้นได้รับจากกฏหมายอื่น

(8) เสนอแนะมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี

(9) เสนอแนะหรือแนะนำต่อหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของเจ้า หน้าที่ของรัฐซึ่งจะสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งดำเนินการให้มีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนซึ่งปฏิบัติ หน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือนเพื่อให้ปฏิบัติ งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพทางสังคมเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน

(10) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

(11) ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาแก่คนไทย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

(12) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

(13) ประชาสัมพันธ์นโยบาย และการดำเนินงานของ ศอ.บต. และรัฐบาล รวมทั้งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีแก่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ

(14) ร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีและประสานงานในโครงการ ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับต่างประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งแนวทางหรือนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดไว้

(15) ส่งเสริมแนวคิดด้านพหุวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญ ของวัฒนธรรมแห่งชาติรวมถึงการลดการผูกขาดทางวัฒนธรรมหรือการขจัดการเลือก ปฏิบัติทางวัฒนธรรมโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

(16) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของ ศอ.บต. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ศอ.บต. อาจวางระเบียบเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตาม (1) ให้ใช้ได้เป็นเวลาสามปี

แผนปฏิบัติการตามที่จะดำเนินการใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและโครงการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการนั้น

ส่วนที่สาม การเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน.
ศอ.บต. ต้องดำเนินการมาตรา 9 (16) วรรคสาม ที่บัญญัติไว้ว่าในการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม (2) คือจัดทำแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ ศอ.บต. หารือกับหัวหน้าหน่วยงานที่กำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้วย เพื่อให้แผนปฏิบัติการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคงตาม กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

 50,641 total views,  2 views today