Select Page

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศอ.บต. จัดการประชุมหารือการเตรียมการแก้ไขปัญหาผลผลิตไม้ผล (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2563 โดยมีนายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัด ผู้แทนพาณิชย์จังหวัด ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการส่งออก และจัดจำหน่ายไม้ผลทางการเกษตรที่อาจมีปัญหาในปีนี้

นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงข้อกังวลปัญหาเรื่องไม้ผลในปี 2563 ว่า ปีนี้ทั่วประเทศประสบปัญหาไวรัสโควิด -19 ระบาด โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศต้นกำหนิดไวรัสชนิดดังกล่าว จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยและเกษตรกรในพื้นที่ในการส่งออกไม้ผลที่จะออกผลผลิตประมาณเดือนสิงหาคมนี้ หากสถานการณ์ไวรัสโควิดยืดเยื้อก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นห่วง เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจในพื้นที่เงียบเหงา นักท่องเที่ยวลดลงเป็นจำนวนมากทั้งอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จึงจัดประชุมเพื่อหารือทุกฝ่ายในการระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางช่วยขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

ด้านนางสาวศิริกุล  กล่าวถึงข้อมูลและแนวโน้มผลผลิตของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนฯว่า เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เกษตรกรมีการปลูกทุเรียนจำนวน กว่า 120,000 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 69,000 ตัน และพบว่า มีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีแรงจูงใจด้านราคาสินค้า ส่วนเนื้อที่การปลูกมังคุดในปีที่ผ่านมา พบว่า มีเนื้อที่ประมาณ 34,000 ไร่  ให้ผลผลิตกว่า 18,000 ตัน ส่วนเงาะและลองกองในปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตกว่า 15,000 และ กว่า 30,000 ตันตามลำดับ โดยพบว่า มีแนวโน้มการปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีราคาต่ำกว่าทุเรียน จึงไม่มีแรงจูงใจในการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ผลผลิตไม้ผลส่วนใหญ่จะให้ผลในเดือนสิงหาคม ยกเว้นลองกองที่ให้ผลในเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี

ทั้งนี้ที่ประชุมต่างเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาว่า ควรพิจารณาดูวิธีการแก้ไขปัญหาของจังหวัด ฝั่งภาคตะวันออกของประเทศเสียก่อน ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เนื่องจากไม้ผลทางฝั่งตะวันออกให้ผลผลิตก่อนภาคใต้ หากส่งสินค้าไปประเทศจีนไม่ได้ กระกระจายสินค้าในประเทศและส่งออกประเทศเวียดนามก็เป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้บ้าง นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการส่งออกไม้ผลในระยะยาวว่า ให้ศอ.บต. ขับเคลื่อนการเดินตลาดแยกไลน์ผลผลิต โดยจัดทีมหน่วยงานในพื้นที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบและจัดการให้ชัดเจนทั้ง 4 ชนิด พร้อมสร้างหัวธนู หรือ หัวจักร ในการหาตลาดสินค้าอย่างจริงจัง ไม่เอาแบบทำ MOU เพราะไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ศอ.บต.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการควบคุมราคาไม้ผล ไม่ให้ไม้ผลบางชนิดมีราคาต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้รับซื้อและส่งออกสินค้าให้ได้ ¼ ถึงจะสามารถคุมราคาผลไม้ได้ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำขั้นต่อไปคือ การสร้างแบรนด์ผลไม้ชายแดนใต้ให้ขึ้นชื่อ เพื่อเปิดช่องทางการส่งไม้ผลในพื้นที่ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 131 total views,  1 views today