Select Page

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา) ณ โรงแรมอิมพิเรียล จ.นราธิวาส นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต.  รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ  รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู พร้อมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงสรุปภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม 11 เรื่อง สำคัญ คือ  1.จุดเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ได้ข้อยุติแล้ว ขั้นต่อไปคือกำลังสำรวจและออกแบบถนนร่วมกันโดยกรมทางหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม  ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคจะประชุมเพื่อเห็นชอบจุดเชื่อมดังกล่าวภายในเดือนเมษายนนี้ ถ้าได้รับจัดสรรงบประมาณ จะก่อสร้างเสร็จภายใน 1 ปี แต่สามารถเปิดด่านสะเดาแห่งใหม่ได้ภายในตุลาคมนี้ โดยเชิญรถขนส่งสินค้าเข้ามาใช้บริการก่อน  2. ด้านการเร่งรัดการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย จะสามารถลงนาม MOU ได้ในอีกประมาณ 4 เดือน โดยไทยได้ส่งร่าง MOU ให้มาเลเซียพิจารณาแล้ว และมาเลเซียจะตอบกลับมาภายในมีนาคมนี้ และจะเสนอ ครม. เห็นชอบ จากนั้นจะสามารถลงนามได้ทันที โดยสินค้าไทยสามารถข้ามพรมแดนส่งไปถึงสิงคโปร์ได้  3. การเปิดด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม 24 ชั่วโมง จากนี้ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันประเมินผลความคุ้มค่าของการขยายเวลาเปิดด่านภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาขยายเวลาต่อไปหรือไม่ ซึ่งประโยชน์ที่เห็นชัดคือความรวดเร็วของการขนส่ง 4. การเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ณ อ.สุไหงโก-ลก แห่งที่ 2  สุไหงโก-ลก – รันเตาปันยัง ได้มอบ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพในการติดตามความคืบหน้า 5. การเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ณ อ.ตากใบ ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์ โดย เร่งสร้างแพขนานยนต์ลำใหม่ให้เสร็จสิ้นและให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว 39 ล้านบาทโดย อบจ.นราธิวาส และ มอบ ศอ.บต. เร่งรัดติดตามความคืบหน้าต่อไป และสำหรับด่านบูเก๊ะตา ที่มีปัญหาในความไม่พร้อมของสถานที่ทำงานของหน่วยงาน 7 หน่วยงาน ที่ประชุมมอบ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงาน 9 หน่วยหารือ เพื่อเร่งอำนวยความสะดวกให้เร็วที่สุด 6. โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายให้สร้างรถไฟทางคู่ทั้งจากกรุงเทพมหานครลงไป และสร้างจากสุไหงโก-ลกขึ้นมา พร้อมกันทีเดียวโดย ศอ.บต.จะติดตามเรื่องนี้ และจะตั้งงบและเริ่มต้นศึกษาการสร้างรถไฟรางคู่ เส้นทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ในปี 2564 7. การลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารทางพิธีการศุลกากร ณ ด่านชายแดน โดยที่ประชุมมอบ ศอ.บต.เร่งรัดการจัดการลดอุปสรรคสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคล ที่ต้องกรอกทั้งใบสำแดงสินค้าของกรมศุลกากรและ     ใบ ตม.2 และ 3 (Border pass) ขอให้ลดขั้นตอนให้เหลือขั้นตอนเดียว ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น พบว่าสามารถทำได้ 8. การดำเนินโครงการเมืองยางพารา (Rubber City) โดยมีความคืบหน้าว่ามิชลินซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่จะซื้อน้ำยางสดได้หนึ่งแสนตันในปี 2563 นี้ หลังจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตกลงช่วยสนับสนุนการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย  ให้มิชลินสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 9. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) ที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันในเรื่องนี้ กรมเจ้าท่าทำการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ของทั้ง 2 แห่งคือ สมุย และภูเก็ต เพื่อเสนอ ครม. ในเดือนสิงหาคม ปี 2564 10. การส่งเสริมการตลาดสินค้าศักยภาพ 247 รายการของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในประเทศและส่งออก ได้มอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หาทางช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการขายออนไลน์และอื่นๆ รวมทั้งการเจรจากับบริษัทไปรษณีย์ไทยในการให้สร้างโปรโมชั่นพิเศษกับภาคเอกชนในการขนส่ง และ  11. กรณีไม่สามารถส่งออกนมและแป้งข้าวเจ้าไปมาเลเซียได้นั้น ได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้นำเข้าที่ประชุม JTC คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-มาเลเซีย ครั้งหน้าต่อไป

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ทรัพยากรภาคใต้มีพร้อมทั้งธรรมชาติ พี่น้องประชาชนมีวิถีชีวิตแบบสังคมพหุวัฒนธรรม  เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากที่จะสามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในภาคใต้ วันนี้ทุกภาคส่วนกำลังเดินหน้าควบคู่กัน  สิ่งสำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์เพื่อที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำหายไป วันนี้จึงต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ รัฐบาลเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเริ่มที่จะเร่งดึงดูดการลงทุนเพราะฐานรากอย่างเดียวไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพ ผลผลิตทางการเกษตรไปต่อลำบาก รายได้ไม่พอ  จึงได้เร่งในเรื่องดึงดูดการลงทุน โดยได้ผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปัจจุบันถือเป็นมิติที่ดีในการที่คนรุ่นใหม่และคนในพื้นที่สามารถที่จะเดินคู่ขนานกันไปกับภาครัฐ สิ่งสำคัญคือต้อง รับฟังความต้องการจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ Datuk Mohd Hatta Md Ramli, Entrepreneur Development Deputy Minister รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพัฒนาผู้ประกอบการ ประเทศมาเลเซีย ได้ร่วมเป็น สักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกันระหว่าง EXIM Bank ไทย EXIM Bank มาเลเซีย และ SME Bank ไทย และ SME Bank มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเฉพาะวันนี้ 30 ล้านบาท และได้พบปะเยี่ยมชมคู่ธุรกิจทั้งสองประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่มาจากท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมให้กำลังใจผู้ประกอบการและทุกฝ่ายโดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้การสนับสนุนตามนโยบายอย่างเต็มที่

 208 total views,  1 views today