Select Page

 ​ ​  ​ วันที่ 15 ส.ค. 62สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำคณะผู้แทนจากจังหวัดสงขลา,กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ ศอ.บต. เข้าพบกับนายรุจ โสรัตน์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือด้านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมที่บูรณาการความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนมิติการพัฒนาและการสร้างความเข้าใจกับคนไทยในประเทศมาเลเซีย

 ​ ​  ​ นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ได้นำคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 หน่วยงานเข้าพบกับผู้แทนเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยในประเทศมาเลเซีย ที่กำลังประสบปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการดูแลคนไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยมีเป้าหมายสูงสุดว่าสิทธิของการเป็นพลเมืองไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศก็ยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยอย่างเท่าเทียม ซึ่งจากการหารือและร่วมรับฟังปัญหาต่างๆ จะสามารถหาแนวทางการบูรณาการและความร่วมมือพิเศษระหว่างกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพคนไทยได้มากยิ่งขึ้น

 ​ ​  ​ ด้าน นายคมกฤช จองบุญวัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เผยว่า ปัญหาหลักที่สถานฑูตได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือคือปัญหาการจับกุมคนไทยที่ทำงานในมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยทำงานในมาเลเซียจำนวนกว่าสองแสนคน โดยที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ สามหมื่นคน ดังนั้นปัญหาคนไทยถูกจับกุมจึงเยอะขึ้นทุกปี โดยสถานฑูตจะทำหน้าที่ในการติดตามและรายงานความคืบหน้าของคดีแก่ญาติผู้ถูกจับกุม และเมื่อคดีสิ้นสุดก็จะประสานเรื่องการส่งตัวกับทางการมาเลเซียเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและให้คนไทยสามารถกลับบ้านได้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งจากการรายงานและพูดคุยกับ ศอ.บต. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะแรงงานไทยเกินกว่าครึ่งที่ถูกจับกุมเป็นแรงงานไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้การประสานงาน และการส่งต่อคนไทยที่ตกทุกข์ในมาเลเซียสามารถส่งต่ออย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจากการมีเครือข่ายอาสาสมัครคนไทยมาช่วยเหลือการทำงานของสถานฑูต ทำให้การดำเนินงานในพื้นที่รวดเร็วขึ้น และยังมองว่าคนที่มาทำงานในประเทศมาเลเซียเป็นบุคคลที่ไม่มีรายได้ในพื้นที่จึงข้ามแดนเพื่อมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ศอ.บต. ได้พยายามสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีงาน มีรายได้ ปัญหาการข้ามแดนและถูกจับกุมจะน้อยลง.และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ยั่งยืน

 ​ ​  ​ ด้าน ผู้แทนเครือข่ายอาสาสมัครคนไทย กล่าวว่า ตนเองทำงานช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียร่วมกับสถานฑูตมานานกว่าสิบปี แม้จะมีอุปสรรคแต่ก็ทำงานด้วยความศรัทธา และด้วยความรักต่อในหลวง ในรัชกาลที่ 9 จึงพร้อมทำความดีตามที่พระองค์ท่านได้สอนไว้ อีกทั้งตนเองสงสารพี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประสบปัญหาต่างๆ ทั้งการโดนหลอกและถูกกดขี่จากนายจ้าง จึงอุทิศตนเองในการเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือคนไทยมาโดยตลอด และตนยังรู้สึกตื้นตันใจที่ ศอ.บต. เห็นคุณค่าและความสำคัญกับอาสาสมัครทุกคน เพราะอาสาสมัครที่มีทั้งหมดกว่า 70 คนทั่วประเทศมาเลเซีย คือคนทำงานและพร้อมช่วยเหลือคนไทยร่วมกับภาครัฐเสมอ

 ​ ​  ​ สำหรับ การหารือในครั้งนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก ศอ.บต. ได้ร่วมประชุมขับเคลื่อนงานสร้างความเข้าใจกับคนไทยในมาเลเซียด้านงานบริหารชายแดนมิติพัฒนาสังคม รวมถึงงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจากการประชุมพบว่ามีคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมีปัญหาในด้านต่างๆอาทิ ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติปัญหาสภาพชีวิต ปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการ ซึ่งยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐทั้งในระบบและในพื้นที่ จชต. จึงมีมติที่ประชุมให้จัดสร้างเครือข่ายคนไทยในพื้นที่ จชต.และประเทศมาเลเซีย เพื่อสามารถช่วยเหลือคนไทยในเบื้องต้น และเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐได้รวดเร็วขึ้น  โดยให้ ศอ.บต. เป็นผู้ประสานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้จัดกิจกรรมความร่วมมือการบริหารจัดการภาครัฐร่วมกับภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กรต่อไป

 ​ ​  ​ อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยหารือได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครคนไทย ที่พร้อมยืนยันถึงการทำงานร่วมกันเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในต่างแดน ให้เท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และสร้างการตระหนักรับรู้ต่อการทำงานสู่การมีรายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ได้กำหนดไว้ โดยมีภาครัฐคอยหนุนเสริมเติมเต็มเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความเท่าเทียมในฐานะการเป็นพลเมืองคนไทยที่รัฐไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 204 total views,  1 views today