Select Page

      วันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นางสาววริษา แก้วเหมือน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี (ศอ.บต.) ร่วมประชุมกับองค์กรคณะทำงานเพื่อสร้างสื่อ “คู่มือการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามโครงการ “เด็กชายแดนใต้ รู้รอด ปลอดภัย” ที่จัดโดย สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กลุ่มลูกเหรียง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ผู้บังคับชุดควบคุมทักษิณสัมพันธ์ ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และเยาวชนผู้ขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่โดยใช้สื่อออนไลน์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วม

      สำหรับโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กลุ่มลูกเหรียง จัดอบรมเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ แต่ที่ผ่านมาเยาวชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในทักษะการป้องกันตนเองจากเหตุรุนแรง และการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ที่ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในสถานการณ์ปัจจุบัน

      นางสาววริษา แก้วเหมือน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี (ศอ.บต.) ได้แนะแนวทางของการผลิตสื่อในระหว่างการประชุมว่า การใช้สื่อในปัจจุบันมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายสำคัญจะอยู่ระหว่าง 10 – 16 ปี จึงควรมีการเสนอเรื่องในรูปแบบของสื่อแอนนิเมชั่น, ละคร, และการจัดกิจกรรมร่วมด้วย ทั้งนี้ ต้องสร้างความจดจำ ด้วยการสร้างตุ๊กตาที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เช่น กลุ่มเพจ แวรุงไปไหน ที่ได้มีการนำเสนอในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติของคนเดินเรื่องที่ไม่ได้ปรุงแต่งมากมายแต่กลับได้รับความสนใจ ฉะนั้น การสร้างเสน่ห์ให้ตัวละครเพื่อนำมาสู่การสร้างความน่าสนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหากได้รับผลตอบรับที่ดีทางหน่วยงานภาครัฐก็พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการขยายการรับรู้ ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ โดยที่ทุกหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำผลงานดังกล่าวไปใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อไป

      อย่างไรก็ตาม จากการร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะแนวทางการสร้างสื่อดังกล่าว สามารถสรุปการสร้างสื่อที่ครอบคลุมใน 3 หัวข้อสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ในการป้องกันการละเมิดทางเพศ การซ้อมแผนเผชิญเหตุ และ Social bully ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยจะมีการผลิตสื่อในรูปแบบของวีดีโอสั้น และคู่มือการสร้างการรับรู้การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้จะมีการนำเสนอสื่อดังกล่าวในกลุ่มเป้าหมายแรกที่เป็นนักเรียนในสถานศึกษาเอกชน และจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

 146 total views,  1 views today