Select Page

   วันนี้ (11 มกราคม 2562) ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อส่งเสริมระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่แบบครบวงจรให้เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. คณะอาจารย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

   พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ปากท้องของพี่น้องประชาชน มุ่งไปสู่การสร้างอาชีพ กระจายรายได้ และยกระดับขึ้นมาให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ สำหรับด้านอาชีพได้ดำเนินการในเรื่องการเพาะปลูก ปศุสัตว์ และการประมง โดย ประมงทะเล ได้ประสบปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบทำให้เรือประมงทะเลหยุดกิจการเป็นจำนวนมาก ซึ่งรอยต่อระหว่างประมงชายฝั่งกับประมงทะเล ต้องมีการดำเนินการในการมาทดแทนเพื่อความมั่นคงในวันหน้า จึงเกิดโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลปัตตานีที่ทาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ริเริ่ม และจะขยายไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่เสื่อมโทรม โดยการเลี้ยงสัตว์    ชนิดใหม่ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของพี่น้องประชาชนในชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ที่นำไปสู่การสร้างอาชีพ กระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกล่าวว่า สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพสูงและมีหลายชนิด ที่ทาง มอ. อยากนำเสนอคือ ปูทะเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ตลาดมีความต้องการสูง ซึ่งพื้นที่ปัตตานีมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเพาะพันธุ์ปูรวมทั้งมีป่าชายเลน  ที่ตอบสนองเศรษฐกิจฐานทะเลซึ่งมีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้สูงที่สุดในบรรดาสัตว์น้ำอื่นๆ โดยใช้วิธีการเลี้ยงแบบพึ่งธรรมชาติ แต่ปัจจุบันยังไม่มีโรงเพาะฟัก ยังไม่มีฟาร์มอนุบาล ทั้งนี้ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อต่อยอดการสร้างงานของพี่น้องในพื้นที่

   อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ยืนยันว่า จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกหนึ่งจุด และจะผลักดันในเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายสองส่วน คือ กลุ่มประชาชนทั่วไปตามแนวชายฝั่งกับกลุ่มเยาวชนที่จบการศึกษาซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถตอบสนองในเรื่องการส่งเสริมระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่แบบครบวงจรให้เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียงได้ต่อไป

 150 total views,  1 views today