Select Page

จากข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ ศอ.บต.  เป็นศูนย์กลางของทุกภาคส่วน         ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบูรณาการการทำงานในทุกมิติ  ด้วยการขับเคลื่อน การพัฒนาไร้รอยต่อ   มิติใหม่การพัฒนาชายแดนใต้  รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ โดยในวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2561) พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยโรคหัด เร่งฉีดวัคซีน 100%  ตามมาตรการที่ 4 เคาะประตูโรงเรียน    Kick  off  เชิงสัญลักษณ์ พร้อมด้วย นายประเวศ หมีดเส็น  ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.  นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริม และสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต.  เพื่อเพิ่มระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า วันนี้ทุกภาคส่วนบูรณาการกันเพื่อร่วมกันรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยตั้งเป้าให้โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรเป็นต้นแบบให้ได้ 100% กิจกรรมนี้ใช้ชื่อว่าเคาะประตูโรงเรียน ซึ่งเด็กในพื้นที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมามีเด็ก 80% ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดนั้นมีเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือเป็นเหตุผลทางด้านความเชื่อ แต่วันนี้ทุกคนมาช่วยกันหมด ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่มีลูกหลานที่เสียชีวิตจากโรคหัด จากเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถฉีดวัคซีนในหลายปีที่ผ่านมาให้ครอบคลุม วันนี้เป็นความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไกลแค่ไหนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ให้เข้าถึง รวมทั้งได้แรงหนุนจากผู้นำศาสนา จากผู้นำท้องที่ ครู อาจารย์ทุกคนช่วยกันหมด โดยหวังว่าจะพลิกสถานการณ์จากพื้นที่ที่มีการระบาดกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สามารถฉีดวัคซีนได้เกินกว่าร้อยละ 95

ด้าน นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่จัดอยู่ในโปรแกรมของการควบคุมโรคหัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในโรงเรียน จึงได้ดำเนินการรณรงค์ในการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้ได้ 95% ภายใต้กิจกรรม 4 เคาะประตู ซึ่งเคาะแรกคือการเคาะประตูผู้สัมผัส โดยควบคุมผู้ที่เป็นโรคแล้ว ต่อมาคือเคาะประตูโรงพยาบาล จะเป็นการดูแลเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งในการติดเชื้อ ต่อมาเป็นการเคาะประตูบ้าน ซึ่งเป็นเด็กที่อายุ 9 เดือน – 5 ปี 10 รายที่เสียชีวิตจากโรคหัดก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ โดยขณะนี้กลุ่มนี้ได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมเกือบ 95% แล้ว และสุดท้ายคือเคาะประตูโรงเรียน ในส่วนของการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ได้ร่วมกันหลายภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ผู้นำศาสนา เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่าวัคซีนเป็นสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยพี่น้องในพื้นที่ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือมากขึ้น รวมทั้งทุกภาคส่วนได้กระจายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กโดยอาศัยการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาพบปัญหาในหลายมิติแต่ได้รับความร่วมมือและการบูรณการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและอีกหลายหน่วยงานเพื่อเข้าไปดูแลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่พี่น้องในพื้นที่จนทำให้สถานการณ์การเกิดโรคหัดในเด็กลดน้อยลง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นพื้นที่ที่ลดการแพร่ระบาดและนำไปสู่พื้นที่ปลอดโรคหัดต่อไป

 183 total views,  1 views today