Select Page

วันนี้ (6 เมษายน 2567) ที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานนำส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานภาครัฐเอกชน และประชาชน ประกอบพิธีสงฆ์ โดยมีพระเทพวชิรนายก เจ้าคณะจังหวัดยะลา/เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน นำพระภิกษุสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันจักรี

จากนั้นผู้ว่าฯยะลา นำส่วนราชการ ประกอบพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ กล่าวถวายอาศิรวาทราชสดุดี ยืนสงบนิ่ง พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทย มหาจักรีบรมราชวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน 2567 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ที่ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ปกครองปวงชนชาวไทยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขทั่วราชอาณาจักร ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทสืบต่อกันตลอดมา

สำหรับวันจักรีตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีในวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประชาชนทั้งหลายต่างมีความปรีดาปราโมทย์ ที่สามารถตั้งบ้านเมืองเป็นอิสระสถาพรสืบมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์ ล้วนทรงพระปรีชาพิเศษสามารถในพระราชกิจเหมาะแก่กาลสมัย จำเดิมตั้งแต่พระปฐมกษัตริย์ ได้ทรงปลูกฝังความมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักรไทยแล้ว รัชกาลต่อมาก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทุกสาขา ทรงเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาและสั่งสมความมั่งคั่ง สมบูรณ์แก่ประเทศ สืบช่วงกันโดยลำดับครั้งถึงสมัยที่ไทยต้องติดต่อกับโลกภายนอก ก็ทรงดำเนินรัฏฐาภิบาล นโยบายสุขุมคัมภีรภาพ รักษาเอกราชของชาติมาได้โดยตลอดพร้อมกับทรงเร่งรัดสร้างความเจริญ เช่น อารยชาติ เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้น พระองค์ทรงเป็นเอกอัครอัจฉริยบุรุษโดยแท้ เพราะนอกจากจะทรงสถาปนาความมั่นคงให้แก่ชาติไทยแล้ว ยังได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมแห่งความเจริญรุ่งเรือง อันได้แผ่ขยายความสุขสราญออกไปสู่พสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ทรงจัดระเบียบการปกครอง/ด้วยการชำระพระราชกำหนดกฎหมายให้บริบูรณ์ และชอบด้วยยุติธรรมทรงอาราธนาคณะสงฆ์ ร่วมกันสังคายนาพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์ เป็นหลักตราบเท่าปรัตยุบันกาล พร้อมกันนั้นก็ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา อาทิ วรรณกรรมและงานศิลปะหัตกรรมอันงดงาม เป็นแบบฉบับแก่ช่างรุ่นต่อมา ด้วยเหตุนี้เมื่อนักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาถึงพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์อเนกประการแล้ว จึงได้เผยแพร่ให้ทั้งฝ่ายราชการและประชาชน ซึ่งต่างเกิดความเลื่อมใสในพระบรมราชกฤดาภินิหารเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันมีสมานฉันท์ที่จะถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”

 62 total views,  1 views today