Select Page

วันนี้ (26 มีนาคม 2567) พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยพลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และพล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9/รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ร่วมแถลงข่าว ผลการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมยะลารวมใจ ชั้น 2 ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต. มีหน้าที่ตรงในการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและได้กำหนดแนวทางตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่ชัดเจนผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยมีการแบ่งการเยียวยาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.การเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกกระทำจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินเสียหาย โดยบูรณาการทำงานเยียวยาร่วมกับทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มีหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง2.กลุ่มผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบ จากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงการบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการอำนวยความเป็นธรรมและยุติธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่กำหนดไว้ว่า “หากผู้ที่กระทำผิดยังไม่ถูกพิพากษาลงโทษจากศาลยุติธรรมให้สันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” จะต้องได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายที่ควรจะได้รับ เหล่านี้เป็นหลักเกณฑ์ทั้งหมดที่รัฐบาลได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รับสิทธิที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นธรรม

ด้านพลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า นโยบายการติดตามบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ว่า “การปฏิบัติที่ผ่านมาในทุกกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีการเน้นย้ำหน่วยทุก ๆ ครั้ง ในการปฏิบัติ ในเรื่องของการปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน โดยให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ละเลยต่อการปฏิบัติ ไม่นิ่งนอนใจ ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยได้เน้นย้ำเสมอในเรื่องของการเจรจาเป็นหลัก ในการติดตามบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ โดยมีการสนธิกำลังร่วม 3 ฝ่าย รวมไปถึงการเชิญผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เข้ามา มีส่วนร่วมในการเจรจา เกลี้ยกล่อม ต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง จากการบังคับใช้กฎหมายในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสีย แต่ต้องการที่จะเห็นความร่วมมือกันเพื่อที่จะให้ผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และเน้นย้ำหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยเสมอ ว่าไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสีย ในส่วนของมาตรการในการควบคุมพื้นที่ให้ปลอดภัยได้จัดกำลังจรยุทธ์กระจายในทุกพื้นที่ เน้นพื้นที่เสี่ยงและชุมชนล่อแหลมเป็นสำคัญ ป้องกันการก่อเหตุหรือตอบโต้จากผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พูดคุยและสร้างความเข้าใจ แก่ครอบครัว และญาติของผู้ต้องสงสัยให้ทราบ ถึงขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้ปฏิบัติด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการประชาสัมพันธ์เน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคดีต่าง ๆ ได้เคยปรากฏให้เห็นถึงบทลงโทษมาแล้วหลายๆครั้ง ขั้นตอนของการเผยแพร่อาจจะต้องใช้เวลา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่ถูกต้องจริงๆ

ขณะที่พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้รายงานความคืบหน้าในคดีที่สำคัญในห้วงที่ผ่านมาและระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ปฏิบัติโดย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม นิติรัฐ บังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาค โดยการรวบรวมพยานหลักฐาน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการพิจารณาในชั้นศาลทุกคดี

 51 total views,  1 views today