Select Page

วันนี้ (10 เมษายน 2566) ที่ สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) วิภาวดี กรุงเทพมหานคร พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี/ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 40 โดยมีนายอารีย์ วงศ์อารยะ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ฯ ดร. กมล รอดคล้าย กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ครอบครัวอุปถัมภ์ เยาวชนโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 40 กว่า 320 คน และครูพี่เลี้ยง เข้าร่วม 

 

ในการนี้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี/ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ ได้เน้นย้ำ..ขอให้เยาวชน “สานใจไทย สู่ใจใต้” ทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพลังของความรัก ความสามัคคี ทำความดีมีจิตอาสา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยชาติบ้านเมือง เพราะเมื่อเราทำความดีแล้ว ก็จะเรียกได้ว่าเราเป็นคนดี เป็นคนไทยที่ดี นั่นคือการ “เกิดมาแล้วได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ที่ยิ่งใหญ่ ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้ว่าในห้วงกิจกรรมจะมีระยะเวลาที่สั้นแต่หากเยาวชนมุ่งมั่นตั้งใจรับความรู้เร่งพัฒนาทักษะและเปิดรับประสบการณ์แปลกใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา ช่วงเวลาเหล่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษที่สุดที่จะส่งผลต่อความคิดของพวกเราในการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไป 

 

สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในปี 2566 คณะกรรมการดำเนินการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” กำหนดจัดกิจกรรมรุ่นที่ 40 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 2 พฤษภาคม 2566 นําเยาวชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาประสบการณ์และทักษะต่างๆ การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งตลอดระยะของการจัดกิจกรรมเยาวชนจะได้พำนักร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ ในพื้นที่ชุมชนพหุวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและ 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางระหว่างวันที่ 10 – 25 เมษายน 2566 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานีและนนทบุรี 

 

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 18 ปี ของโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ที่ได้เกิดขึ้นโดยดำริ ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งมีเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจากพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล นับตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการมาแล้ว 39 รุ่น มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 9,305 คน ครอบครัวอุปถัมภ์จำนวน 4,163 ครอบครัว เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ให้แพร่กระจายสู่ชุมชนและสังคมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการส่วนหนึ่งเสริมสร้างมูลค่าชีวิตและร่วมกันพัฒนาความสุขความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป

 1,618 total views,  1 views today