Select Page

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมเสนอโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้านและชุมชน เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ ในการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นี้ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้านและชุมชน ดำเนินการขึ้นจากการระดมความคิดเห็นและสอบทานข้อมูลความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชนที่ได้จากการจัดเวทีประชาคมครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 50 คน เป็นผู้แทนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จาก ๕ จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดละ ๑๐ คน และจัดเวทีประชาคมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา มีผู้แทนผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 400 คน อีกทั้ง ได้มีการเดินสำรวจข้อมูลเป็นรายครัวเรือนของคณะกรรมการหมู่บ้าน องค์กรภาคประชาสังคม และชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และผ่านการวิเคราะห์ ประมวลผลตามกระบวนการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากการเสนอความเห็นของผู้นำท้องถิ่นทั้ง 2 เวที ร่วมกันเสนอแนวทางการดำเนินดังกล่าวในระดับรากหญ้าอย่างหลากหลาย อาทิ ขอให้ยึดความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก กำหนดโซนการพัฒนา โครงการที่ดำเนินการต้องสร้างรายได้แก่ประชาชน ขอให้ส่งเสริมการตลาด นำการผลิต ทั้งภายใน และนอกประเทศ, กำหนดให้มีการอบรมให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพให้เท่าทันสถานการณ์, มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ประชาคม บูรณาการอย่างครอบคลุม, วางแผนงาน 1 ปี 3 ปี 5 ปี จนถึง 20 ปี แบบต่อเนื่องเชื่อมโยง, สร้างเครือข่าย เชื่อมโยงทุกหน่วยงาน, มีการศึกษาดูงาน สร้างการเรียนรู้ แรงจูงใจ ที่วัดผลได้, สื่อสารที่ครอบคลุม ทั้งเสียงตามสาย และโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ ผู้แทนหัวหน้าส่วนท้องถิ่น ยังมีการเสนอความเห็น เสนอให้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้านและชุมชน มีความยืดหยุ่นในการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการจัดซื้อครุภัณฑ์ พร้อมเสนอให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ปศุสัตว์ เหมือนรูปแบบสหกรณ์โคในภาคกลาง และให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในการดำเนินการ, มีการดำเนินโครงการสอดคล้องกับแผนอำเภอ และจังหวัด, มีกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ โดยดึงภาคเอกชนร่วมพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่ทั้ง ๕ จังหวัด ได้ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้าน เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเปลี่ยนแปลง พลิกฟื้น และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน มากกว่า 3,129,000 คน ภายใน ๕ ปี.

 240 total views,  1 views today