Select Page
วันนี้ (1 ตุลาคม 2565) โรงแรมบันดาหยา เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล บรรยากาศการร่วมกิจกรรมถอดบทเรียนการบูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระบบ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน อาทิ นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด เสมียนตราอำเภอ พัฒนากรตำบล ประธานสภาสันติสุขตำบล ประธานบัณฑิตอาสาพัฒนามาตภูมิ ตัวแทนครัวเรือนยากจน เป็นไปอย่างคึกคักและเข้มข้น ภายในกิจกรรมมีการแบ่งกลุ่มรระดมความคิดเพื่อสะท้อนปัญหาระหว่างการปฏิบัติงานและให้ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ในหลายเรื่อง นำโดย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
 
โดยอาจารย์วัชระ เจียมสวัสดิ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตอาสาเอง หรือตัวแทนครัวเรือนยากจน กิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดจากปัญหาความยากจนอย่างแท้จริงว่ามีสาเหตุจากอะไร มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ ศอ.บต. จะทำการรวบรวมและแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยส่วนใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนมาคือในเรื่องของรายได้และเรื่องของสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การประกอบอาชีพ ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมของการแก้ไขปัญหาความยากจนมาช่วยให้สอดคล้องกับพื้นที่ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญที่สามารถทำการรวบรวมบุคคล ต่างๆมาร่วมช่วยเหลือด้วยกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน บัณฑิตอาสา ซึ่ง ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มเหล่านี้ไปด้วยกัน
 
ในส่วนของ ว่าที่ร้อยตรี นายสมบัติ สิงห์คาร นายอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการทำ AAR หรือ การทบทวน หลังปฏิบัติงาน ซึ่งหลังจากดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ในปี 2565 แล้ว มีปัญหาอุปสรรคอะไร เราก็มาร่วมประชุมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนในปี 2566 ต่อไป สิ่งที่ได้จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เราได้ตระหนักทราบว่าในครัวเรือนยากจนไม่ได้เพียงแค่ขาดรายได้อย่างเดียวบางครัวเรือนขาดความรู้ด้วย ในการไปหารายได้เสริมให้ตัวเองซึ่งในวันนี้ก็ได้มีการวิเคราะห์เพื่อช่วยเหลือต่อไปที่สำคัญที่สุดคือการที่จะเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริงจะต้องหาวิธีการ กระบวนการอย่างไรให้รู้ว่าครอบครัวยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างพอเพียงและยั่งยืนต่อไป
 
ด้าน นายถาวร นพรัตน์ เสมียนตราอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า มีหลายปัญหาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนมา เช่น ทีมบัณฑิตอาสาได้สะท้อนถึงระยะเวลาในการดำเนินการมีข้อจำกัด กระชั้นชิด เพราะฉะนั้นความรอบคอบในการเขียนโครงการบางครั้งไม่ชัดเจน ในส่วนของโครงการที่ให้กับกลุ่มเป้าหมายมีเสียงสะท้อนว่ายังไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง การสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน การมาร่วมพูดคุยในกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนปัญหาได้อย่างหลากหลาย ได้นำบุคลากรที่ทำงานจริงๆ เข้ามาพูดคุย
 
สำหรับกิจกรรมถอดบทเรียนการบูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระบบ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน และถอดบทเรียนจากการขับเคลื่อนภารกิจในห้วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ในเรื่องกลไกและขั้นตอนการปฏิบัติงาน ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพิจารณาครัวเรือนเป้าหมาย โดยมีครัวเรือนเป้าหมายนำร่องในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 379 ครัวเรือน และได้ขยายผลการดำเนินงานขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มเติมอีก จำนวน 31 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้นจำนวน 410 ครัวเรือนโดยในการขับเคลื่อนภารกิจการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นที่จะให้การดำเนินกิจกรรมได้สำเร็จบรรลุเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสามารถส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดัน และขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมือง และสร้างสันติสุข ให้เกิดขึ้นในอนาคตโดยเร็ว

 331 total views,  1 views today