Select Page

วันนี้ (5 ส.ค. 2565) กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านประสานการมีส่วนร่วม นำโดย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญพร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่ โดยคณะได้เดินทางเยี่ยมชมชุมชนบริเวณหน้าวังจะบังติกอ ณ หน้าวังจะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นสถานที่แรก พร้อมร่วมเสวนา (หพุ) วัฒนธรรมกินได้ คุณค่าและมูลค่าบนความแตกต่างที่หลากหลาย โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.ต.วัฒนา กรมขันธ์ เลขาธิการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของ Soft power เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างกำลังทางเศรษฐกิจ ด้วยพลังของสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าสามารถโปรโมทให้คนนอกพื้นที่ได้จดจำเรื่องราวและความน่าสนใจของพื้นที่ได้ ก็สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมความสวยงาม โดยไม่ต้องใช้อาวุธ

ด้านรองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สำหรับ ศอ.บต. มีบทบาทในการขับเคลื่อนพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ 4 มิติ คือ 1.เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยนำงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำมาสนับสนุนค่าตอบแทนแก่ผู้นำศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับจัดกิจกรรมส่งเสริม เสริมสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสในการทำกิจกรรมที่สำคัญของทางศาสนาในต่างประเทศ อาทิ การสนับสนุนประชาชนได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย และส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยพุทธได้มีโอกาสไปแสวงบุญ ในโครงการเดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ส่วนบทบาทที่ 2.คือ เป็นหน่วยประสานงานขับเคลื่อนพหุวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัด กอ.รมน. , สมช. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวทาง soft power บทบาทมิติที่ 3.เป็นหน่วยงานส่งเสริมมิติวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นที่รู้จัก และ 4. เป็นหน่วยส่งเสริมอาชีพ ขับเคลื่อนพหุวัฒนธรรม อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงโคบาลในพื้นที่ ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขา สมช. กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใต้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้น ต้องเข้าใจท่านและท่านต้องเข้าใจเรา ดำรงอยู่และเข้าใจการอยู่ร่วมกันในบริบทที่มีความหลากหลายในพื้นที่

ทางด้านของ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เผยว่า การจัดงาน (พหุ) วัฒนธรรมกินได้ คุณค่าและมูลค่าบนความแตกต่างที่หลากหลายในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ใช้อยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทำอย่างไรให้พื้นที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่งก็แปลว่าทุกคนที่มีความแตกต่างที่อยู่ในพื้นที่ดูแลกัน โดยการปรับตัวเข้าหากัน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ความสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้น เมื่อทุกฝ่ายปรับตัวเข้าหากันด้วยความเข้าใจ

ภายในงานยังมีการจัดทำขนมโบราณ ตามกิจกรรม (พหุ) วัฒนธรรมกินได้ โดยมีขนม “มาดู กาตง” ขนม “ปูตูฮาลือบอ” ขนม “อาเก๊าะ” รวมถึงการจัดแสดงกีฬาปันจักสีลัต จากนั้นคณะได้เดินทางเยี่ยมชม และรับฟังการดำเนินงานสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิลักษณ์ชายแดนใต้ พร้อมร่วมกิจกรรมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ ในการสาธิตทำผ้าลีมาติก ณ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และร่วมเปิดกิจกรรมสายใย สายสัมพันธ์ชายแดนใต้ ลูกทุ่ง Fun Fin ปัตตานีอินเลิฟ ณ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี ในเวลา 17.30 น. ด้วย

 205 total views,  1 views today