Select Page

วันนี้ (30 มิ.ย. 2565) คณะองค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC เดินทางชมการจัดแสดงอัลกุรอานโบราณคัดด้วยลายมือ ณ พิพิธภัณฑสถานมรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำคณะ OIC นำโดย Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC Mr. El Habib Bourane ผู้อำนวยการกองชุมชนและชนกลุ่มน้อยของมุสลิม Ms. Ibrahim Patou เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับชำนาญการ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วย นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา และคณะ ชมอัลกุรอานโบราณในครั้งนี้

ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ศอ.บต. กำหนดแผนการเดินทางลงพื้นที่มาพูดคุย หารือ และเยี่ยมเยียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ พร้อมชมอัลกุรอานคัดมือโบราณที่มีอายุกว่า 100-1,100 ปี เนื่องจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถือว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทำนุบำรุงพลเมืองให้มีคุณค่าของสังคม มีความรู้ ความเข้าใจ ยึดมั่นในอิสลามสายกลาง ไม่สุดโต่ง ไม่เอนเอียง ไม่ขวาหรือซ้าย แต่เป็นไปตามหลักคำสอนของศาสดานบีมุฮัมมัด ดังนั้นขอให้ความพยายามในการพัฒนาเยาวชนเป็นไปตามเจตนารมณ์และขอให้มีความเจริญสืบไป อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่คณะลงพื้นที่เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้กีดกันสิทธิเสรีภาพของพี่น้องมุสลิมในประเทศแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มีการสนับสนุน หนุนเสริมและดูแลเป็นอย่างดี

ด้านเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. กำหนดจุดหมายการเดินทางของคณะ OIC เพื่อให้ได้เยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนศาสนา มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในการดูแล บ่มเพาะและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พิพิธภัณฑ์อัลกุรอานโบราณ มัสยิดกลางปัตตานี นราธิวาสและอื่นๆ เพื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับอัลกุรอานที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานมรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน จัดเก็บและรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณตัวหนังสือเขียน กว่า 78 ฉบับ มีอายุประมาณ 150 ถึง 1,100 ปี เป็นมรดกล้ำค่าของชุมชนมุสลิมในประเทศไทยและของโลก โดยได้เก็บรวบรวมอัลกุรอานคัดด้วยลายมือจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในหลายประเทศ สืบเนื่องจากปัตตานีในอดีตนั้นเป็นเมืองท่าของการค้าขาย รองรับพ่อค้าแม่ค้าจากทั่วทุกสารทิศ จึงมีพ่อค้ารวมทั้งนักปราชญ์ที่เข้ามาค้าขายและพำนัก พร้อมพกคัมภีร์อัลกุรอานที่คัดด้วยลายมือมาอ่านและศึกษา โดยคัมภีร์อัลกุรอานในอดีตนั้น เป็นคัมภีร์ที่คนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากต้องเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้เท่านั้นที่จะเข้าถึง อ่าน เขียน ด้วยลายมือ ซึ่งแต่ละคน และแต่ละประเทศจะใช้วัสดุในการบรรจงเขียนอัลกุรอานที่ต่างกัน ดังนั้น ห้องจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน จึงมีอัลกุรอานคัดมือที่ทำจากหนังแพะ หนังกวาง เปลือกไม้ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหนังสือตำราโบราณเกี่ยวกับวิถีของผู้คนในอดีตที่หลากหลาย อาทิ ตำราการล่าสัตว์ โหราศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เวชศาสตร์ ตำราการสร้างเรือ การเดินเรือ ตำราการสร้างปืนใหญ่ การทำกริช ตำราดาราศาสตร์ และประวัติบุคคลสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอีกด้วย

 647 total views,  1 views today