Select Page

วันนี้ (29 มิถุนายน 2565) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำคณะผู้แทน OIC นำโดย Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC Mr. El Habib Bourane ผู้อำนวยการกองชุมชนและชนกลุ่มน้อยของมุสลิม Ms. Ibrahim Patou เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับชำนาญการ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่เยี่ยมชมมัสยิดรายอฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่และเป็นศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องชาวปัตตานี โดยภายในบริเวณมัสยิดยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การศึกษาอิสลาม (ตาดีกา) ประจำมัสยิดรายอปัตตานี เพื่อให้เด็กๆในบริเวณใกล้เคียงได้มาเล่าเรียนในช่วงเวลาเย็น

สำหรับมัสยิดรายอฟอฏอนี ตั้งอยู่บนถนนยะรัง ซอย 8 ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เริ่มก่อสร้างเมื่อสมัยเมืองปัตตานีเป็นเมืองหรือรัฐปัตตานี มีเจ้าเมืองปกครองตนเอง คือ สุลต่านมูฮัมหมัด หรือ ตนกูบือซาร์ หรือ ตนกูปะสา เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ช่วงประมาณ พ.ศ. 2388-2399 ได้ทรงเริ่มสร้างมัสยิดประจำเมืองปัตตานีในสมัยตนกูปูเต๊ะฮฺ พ.ศ. 2399-2424 เดิมเป็นสุเหร่าอาคารไม้ สร้างในรั้ววัง ต่อมาได้ย้ายมาสร้างเป็นอาคารถาวร ณ ที่ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวังเจ้าเมือง ก่อนถึงสุสานหลวง (กูโบร์โต๊ะอาเยาะฮฺ) ต่อมาตนกูตีมุง พ.ศ. 2424-2433 ได้ทรงแต่งตั้ง ฮัจญีอับดุลาเตะฮฺ ดาโต๊ะ เป็นอีหม่ามท่านแรกอย่างเป็นทางการ และได้ขยายอาคารเพิ่มเติม แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จสมบูรณ์ท่านได้เสียพระชนม์เสียก่อน ต่อมาตนกูสุไลมานหรือตนกูบอซู พระอนุชาตนกูปูเต๊ะฮฺ ได้ทรงสร้างต่อจนแล้วเสร็จ มีการขยายอาคารในส่วนที่เป็นอิฐเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้ประดับลวดลายภายในมัสยิดด้วยไม้แกะสลัก พรรณพฤกษา และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “มัสยิดรายอฟาฏอนี” ตามคำเรียกชื่อเมืองปัตตานี มัสยิดแห่งนี้มีความโดดเด่นที่สถาปัตยกรรม มลายูปาตานี ซึ่งผสมระหว่างอาคารทรงพื้นเมืองหลังคา 2 ชั้น ทรงปั้นหยา และยอดโดมแบบสถาปัจยกรรมตะวันออกที่อยู่ด้านหลังของอาคาร

ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ยังคงเปิดให้พี่น้องประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่เข้าไปปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ และยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมรวมทั้งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของมัสยิดอีกด้วย นอกจากนี้คณะได้เยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมอันงดงาม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ส่วนด้านหน้าก็มีสระน้ำขนาดใหญ่ เสริมองค์ประกอบให้มัสยิดดูเด่น สง่ามากยิ่งขึ้น จนทำให้ที่นี่ถูกขนานนามให้เป็น “ทัชมาฮาลเมืองไทย”

ทั้งนี้มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 โดยใช้พื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ย่านตำบลอาเนาะรู กว้าง 3 ไร่ 55 ตารางวา ตามแนวคิดของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ห่างไกลที่มักมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่พัฒนาและความแตกต่างทางศาสนา ใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี เมื่อแล้วเสร็จจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ให้ชื่อว่า “มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี” และมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่ หลังจากนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมเมื่อคราวใช้ต้อนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้บูรณะปรับปรุงอาคารของมัสยิด กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองศิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ใน พ.ศ. 2539 ส่งผลให้ตัวอาคารขยายและต่อเติมออกทั้ง 2 ข้าง และยังสร้างหออะซานเพิ่มอีก 2 หอ ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีแห่งนี้มีความสำคัญต่อพสกนิกรชาวจังหวัดปัตตานีเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นประจำทุกปี ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรในพื้นที่อย่างหาที่สุดมิได้

 588 total views,  1 views today