Select Page

วานนี้ (29 มิ.ย. 2565) เวลา 13.30 น. Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC Mr. El Habib Bourane ผู้อำนวยการกองชุมชนและชนกลุ่มน้อยของมุสลิม Ms. Ibrahim Patou เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับชำนาญการ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วย นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา และคณะ เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ภายหลังเยือนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในช่วงเช้า เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ศอ.บต. และหน่วยงานในพื้นที่

โดยผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC และคณะ เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาจากนานาชาติ ที่เดินทางมาศึกษาใน จชต. และผู้แทนชมรมศิษย์เก่าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมรับฟังบทบาทของมหาวิทยาลัยฯกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเพื่อให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีนายลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นประธานในการต้อนรับพร้อมบรรยายฯ และมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. รองอธิการบดี คณาจารย์และนักศึกษาร่วมให้การต้อนรับ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวถึงการก่อตั้ง
มหาวิทยาลัยฟาฏอนีว่า ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 23 ของมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด มีนักเรียนจาก 75 ประเทศมาเรียน และมีนักเรียนจากประเทศไทย 50 จังหวัดเดินมาศึกต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีเปิดการเรียนการสอน 4 คณะ 1 สถาบันภาษา และล่าสุดมีโครงการเปิดห้างอาเซียนมอล ณ จังหวัดปัตตานี เพื่อรายได้ของมหาวิทยาลัย ในการสานเจตนารมณ์ให้บริการทางการศึกษาฟรีในอนาคต

ด้านผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OICกล่าวว่า OIC ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศไทย ผ่านเอกอัครราชฑูตไทยที่ประจำการอยู่ ณ กรุงริยาร์ด และเจดดาร์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมแสดงความยินดีกับการเติบโตของมหาวิทยาลัย ซึ่งมองว่า เป็นแหล่งเรียนรู้อิสลามที่โดดเด่นในเอเชียและประเทศไทย เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนมุสลิมในชายแดนใต้ หากการศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ เชื่อว่า มหาวิทยาลัยฟาฏอนีจะเป็นสถานที่สำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี

Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay กล่าวอีกว่า OIC มีกองการดูแลชุมชนมุสลิมทั้งในประเทศสมาชิก และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพื่อสอดส่องความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแล้ว พบว่า ประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพของการประกอบศาสนกิจ การศึกษา การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ โดยพบว่า รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่เป็นอย่างดี ในหลวงรัชกาลที่ 10 และทุกพระองค์ ได้มีการสนับสนุน ทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา รวมถึงศาสนาอิสลามด้วย

สำหรับกำหนการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC และคณะ จะมีการเดินทางศึกษาเรียนรู้เมืองต้นแบบ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้าผสมผสาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับซื้อสินค้าเกษตรใน จชต. เพื่อแปรรูปสินค้า ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลด้วย

 163 total views,  1 views today