Select Page

นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะโฆษก ศอ.บต. เปิดเผยถึงภาพรวมของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขณะนี้ว่า ในประเทศไทยและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด วานนี้(14 มิถุนายน 2564) จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด มีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นหลายคลัสเตอร์ รวมทั้งยังคงมีพื้นที่อีกหลายหมู่บ้านถูกปิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาพี่น้องประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ได้พยายามดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ด้วยลักษณะของโรคโควิด 19 สามารถติดต่อกันได้ง่าย และมีการแพร่กระจายในวงกว้าง จึงทำให้ยังมีตัวเลขที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน โปรดอย่าประมาท การ์ดไม่ตก รีบไปดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน และให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของ ศบค. และของจังหวัดที่ต่างๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของจังหวัดยะลา ที่มีการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 – 7 กรกฏาคม 2564 หรือจังหวัดสงขลา ล็อกดาวน์ชุมชนเก้าเส้ง ห้ามเข้าพื้นที่ตลอดเส้นทางชายหาด ชลาทัศน์ ตั้งแต่เวลา 20.00 – 05.00 น.การปิดตลาดสดพลาซ่า 2 และพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ รวมทั้งมาตรการเดินทางเข้าออกพื้นที่ การดำเนินกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม การรักษาระยะห่าง การปิดเปิดสถานบริการ การงดเว้นกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา และอื่นๆ พร้อมทั้งฝากย้ำ ถึงคนไทยในประเทศมาเลเซีย ที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย ขอให้เข้าประเทศไทยในช่องทางที่ถูกต้อง และต้องผ่านการคัดกรองโควิด 19 เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากมาเลเซียเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ในมาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
ทั้งนี้จากความห่วงใยต่างๆ จาก ศอ.บต. นำโดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ยังมีแผนออกเยี่ยมให้กำลังใจและมอบวัตถุดิบปรุงอาหาร ช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และส่วนราชการต่างๆ ระหว่างวันที่ 16 – 17 มิถุนายน 2564 นี้ ที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคจาก มูลนิธิธงฟ้า ได้แก่ ฟักทอง ปลากระป๋อง ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย รวมถึงได้จัดรถตรวจคัดกรองเคลื่อนที่ จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา (สคร.) ออกให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกแก่ประชาชน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงพยาบาลธารโต ตำบลอัยเยอร์เวง ด่านตรวจชุดเฉพาะกิจ กม.ที่ 23 และโรงพยาบาลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน และสร้างขวัญแก่เจ้าหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต. ได้ออกเยี่ยมเจ้าหน้าที่และช่วยเหลือประชาชนที่ถูกปิดหมู่บ้านหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสบียงและวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารถุงยังชีพ อาหารสด และอื่นๆ อาทิ ในพื้นที่ ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ขณะนี้ยังคงมีการปิดหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 3 หมู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ศอ.บต.รับรู้และรับทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องที่ต้องกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีอยู่มากในพื้นที่ ขอขอบคุณทุกคนที่อดทน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ส่วนราชการทุกหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่อย่างดี เชื่อว่าเราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ในเร็ว
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังคงมีพี่น้องประชาชนตกงานและไม่มีงานทำ ศอ.บต. จึงได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในทุกโครงการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างงาน สร้างอาชีพแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จาก โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียและต้องเดินทางกลับเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด กว่า 20,000 คน ได้แก่ ส่งเสริมการปลูกไผ่ พืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงงานและโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเล ซึ่งมีตลาดรองรับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีโครงการสอบถามความต้องการในการทำงาน จัดหาตลาดงาน และจัดส่งแรงงานที่มีความพร้อมที่จะทำงานนอกพื้นที่ โดย ศอ.บต. จะทำหน้าที่ในการ

 

ประสานงาน สถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน มีความพร้อมและมีความเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มีที่ละหมาด มีอาหารฮาลาลและค่าตอบแทนที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาศอ.บต. ได้มีการจัดส่งแรงงานไปทำงานที่โรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ที่ จังหวัดเพชรบุรีกว่า 1,000 คน ที่บริษัท เมอร์รี่ อิเล็กทรอนิคส์ ไทยแลนด์ จำกัด จังหวัดระยองอีก 30 คน และล่าสุดได้มีการส่งแรงงานไปที่บริษัทไทยฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานชำแหละชิ้นส่วนไก่ ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุร โดยได้รับโควต้ามาทั้งหมด 1,500 คน ขณะนี้ส่งไปแล้ว 120 คน รวมทั้งกำลังประสานงานให้ไปทำงานในภาคเกษตร สวนยางพาราและสวนปาล์ม ที่ประเทศมาเลเซีย ภายหลังโควิด 19 คลี่คลาย ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางไปทำงานดังกล่าว ศอ.บต. จะจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการและหน้าที่การเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย และความรู้ด้านการป้องกันการปฏิบัติในระหว่างอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคโควิด 19 ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ในการขยายพื้นที่รองรับแรงงานจาก จชต. สู่การมีงานทำ และมีรายได้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานต่อไป
และนอกจากนี้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเวลานานในการเดินสำรวจรังวัดและออกโฉนดซึ่งในรอบ 6 ปี ที่ผ่านมา สามารถออกหนังสือรับรองให้กับพี่น้องประชาชนกว่า 100,000 แปลง ซึ่งพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต ให้ความสำคัญปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ เช่น ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐ และที่สำคัญคือราษฎรอยู่อาศัยในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองแต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ได้มีการดำเนินงานภายใต้หน่วยงานต่างๆ และคณะกรรมการระดับชาติ เช่น คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และระดับพื้นที่ สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คปต. สำหรับคณะอนุกรรมการชุดนี้ เดิมเรียกว่า คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินและพัฒนาชุมชนบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี (อปด.) มีเป้าหมายดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดเงื่อนไขต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ โดยในช่วงต้นมีเป้าหมายดำเนินการ พื้นที่ทำกินซับซ้อนรอบอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่โดยรอบ 9 อำเภอ 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน รวมประชาชนกว่า 20,900 ครัวเรือน 23,000 แปลง คิดเป็นเนื้อที่กว่า 127,000 ไร่ ซึ่งในการแก้ไขปัญหานั้น ได้ตรวจสอบแนวเขตของอุทยานแห่งชาติและแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติอย่างชัดเจน มีการตรวจสอบการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ สำหรับผู้ที่ทำกินอยู่ก่อน การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ทางอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งออกเอกสารรับรองเพื่อให้เข้าทำประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มีการออกหนังสือรับรองแล้วกว่า 13,100 แปลง เนื้อที่กว่า 60,000 ไร่ สำหรับประชาชนที่มีทีดินทำกินนอกเขตอุทยาน ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสายเดินสำรวจ รังวัด และออกโฉนดจำนวน 3 สาย รวม 30 ชุด โดยกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย ได้สนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยในห้วง 6 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2563 ได้สำรวจรังวัด และออกโฉนดพื้นที่นอกเขตโดยรอบอุทยานบูโด สุไหงปาดี รวมกว่า 91,300 แปลง เนื้อที่กว่า 161,000 ไร่ ผู้ครอบครอง จำนวน 59,500 ราย สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปจะเร่งผลักดัน ให้มีการเดินสำรวจและออกโฉลดให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกิดเป็นรูปธรรม สามารถสร้างหลักประกันในชีวิต รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

 127 total views,  2 views today