Select Page

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2562) เวลา 10:00 น ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเอกปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุม ขับเคลื่อนแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (การกำเนิดการต่อเด็กกำพร้า) ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคมประจำปีงบประมาณ 2563 เพื่อติดตามการดำเนินงานภายหลังสั่งการให้ ศอ.บต. ดำเนินการเข้าดูแลกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กกำพร้าที่มีความเสี่ยงต่อการชักจูงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ให้เดินหันหลังให้รัฐ

นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน เผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กกำพร้าว่า ศอ.บต. ได้ขยายผลโครงการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพเด็กกำพร้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กกำพร้าให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กกำพร้าอย่างเป็นระบบ เนื่องจากปัจจุบัน มีข้อมูลประชาชนที่รัฐสมควรให้การดูแล และจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกว่า 1.6 แสนราย มีเด็กกำพร้า 18, 637 ราย เป็นเด็กกำพร้าทั่วไป 5,289 คน เด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 137 คน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ศอ.บต. นำโดยเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ประสานให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคม บูรณาการแก้ไขปัญหาทุกมิติ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนและยกระดับเด็กกำพร้าในพื้นที่ให้มีความรู้สึกได้รับการดูแล เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเยาวชนทั้งสิ้น สามารถสะท้อนให้เห็นได้จากปัญหาทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ การได้รับการฉีดวัคซีนน้อย โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิตจากโรคหัดกว่า 40 ราย เนื่องจากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีเด็กพิการและครัวเรือนยากจน ตกเกณฑ์ จปฐ.มากที่สุด พร้อมด้วยปัญหาเด็กถูกทิ้ง ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบอีกเป็นจำนวนมาก

นายนันทพงศ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 ศอ.บต. ได้ดำเนินการเข้าดูแลกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กกำพร้าที่มีความเสี่ยงต่อการชักจูงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีไปในทางที่ผิด ตามข้อสั่งการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล โดยดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กกำพร้า มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานดูแลเด็กกำพร้า ผ่านกลไกภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่ และกิจกรรมการเรียนรู้ด้านศาสนา ส่งเสริมทักษะการพูดภาษาไทยและภาษามลายู พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะด้านกีฬา เพื่อให้เด็กกำพร้ามีการพัฒนาทักษะในกีฬาที่สนใจ โดยเฉพาะการเล่นกีฬาเป็นทีม เพื่อให้มีความรู้รักสามัคคี ส่วนด้านวัฒนธรรม เสริมสร้างการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งมุ่งส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมร่วมกันบนพื้นฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นในปีนี้

 492 total views,  1 views today