Select Page

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2563) ผู้แทนบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มหาชน (TPIPP) นายวรวิทย์ เลิศบุศราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลการขยายโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่โรงเรียนจะนะวิทยา โดยมีประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล อ.จะนะ ประกอบด้วย ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ และประชาชนในพื้นที่ตำบลใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะ กว่า 1,000 คน

นายวรวิทย์ เลิศบุศราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มหาชน เผยว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดจาก ศอ.บต. ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคง โดยติดต่อไปยังบริษัทหลายบริษัท เพื่อให้ยื่นแผนการพัฒนาให้ขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบริษัททีพีไอ ได้เสนอการดำเนินการเมืองอุตสาหกรรม ประมาณงบประมาณไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ 1.นิคมอุตสาหกรรม โดยเน้นเรื่อง อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมรองรับเรื่องอาหาร และยา ซึ่งต้องอาศัยวัตถุดิบจากการเกษตรและสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อแปรรูปและสร้างมูลค่า 3.อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรระบบราง เนื่องจากทิศทางการขนส่งในปัจจุบันมีการขยายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเรานำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตและการส่งออก 4.อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรพลังงานสะอาด เนื่องจากความเป็นจริงในวันนี้เราเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ทั้งหมด และผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งแนวโน้มธุรกิจนี้จะมีการเติบโตในทุกประเทศ และมองว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้ซื้อและผู้นำเข้า

ผู้แทนบริษัททีพีไอ กล่าวอีกว่า ภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่ต้องนำเข้าพลังงานมาใช้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าไม่พอต่อความต้องการของพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งนำไฟฟ้ามาจากตะวันตกผ่านสายส่ง และอีกส่วนหนึ่งมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย จึงเห็นได้ว่า ปัจจุบันแม้ภาคใต้ยังไม่มีการพัฒนาก็ยังเป็นภาคที่ขาดแคลน บริษัทจึงมีทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพลังงานเพื่อความมั่นคง ใช้เชื้อเพลิง LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสะอาด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ จะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีกทั้งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเสริม เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโซล่าเซลและกังหันลมอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรม ชาวบ้าวจะมีความกังวลเรื่องน้ำเสีย หรือของเสียในรูปแบบอื่นๆ ยืนยันว่า จะมีระบบบำบัด ควบคุม ตรวจสอบและมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ทางบริษัทจะต้องทำ EIA และ EHIA ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายกำหนดและขั้นตอนโดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ยืนยันว่า ในอุตสาหกรรม 4 ส่วนไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมันแน่นอน ทั้งนี้คาดว่า จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ ทั้งจ้างงานโดยตรง หรือผ่านการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจ จำนวน 100,000-150,000 อัตรา” นายวรวิทย์ กล่าว

 423 total views,  1 views today