Select Page

วันนี้ ( 30 มิถุนายน 2563) เวลา 10.00 น. พลเอก ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พร้อมด้วย พลเอก ชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ประชุมขับเคลื่อนแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต. (โครงการศึกษาและผลิตชุดข้อมูลเพื่อสลายแนวคิดหัวรุนแรง) โดยมี นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ 5 จชต. ผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคาร ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

สืบเนื่องจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ จชต.อย่างยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและการสร้างความเจริญตามศักยภาพของจังหวัดภาคใต้  ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ทั้งมิติประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์มลายู และความศรัทธาตามหลักศาสนาที่ถูกนำมาบิดเบือนสร้างแกนนำและแนวร่วมก่อเหตุรุนแรง ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก  ศอ.บต.จึงได้ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จชต.ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องสำคัญเร่งด่วน วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การประสานความร่วมมือในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนรองรับในระดับต่างๆ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล  และเพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานวิชาการ การจัดการศึกษา การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม งานบริการวิชาการ ตลอดจนการส่งเสริม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนา จชต. โดยการขับเคลื่อนแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต. (โครงการศึกษาและผลิตชุดข้อมูลเพื่อสลายแนวคิดหัวรุนแรง) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พลเอก ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานราชการที่ฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 และวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะขับเคลื่อนแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ศอ.บต. กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ให้ตรงตามแผนงาน วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายตามที่กำหนดไว้

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการจัดกิจกรรมค่ายสังคมพหุวัฒนธรรมในระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และหลักสูตรครู ข. (วิทยากรเสริมสร้างสันติสุข) ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อเร่งสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานวิชาการ การสร้างชุดความรู้และนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน การพัฒนาศักยภาพคน การสร้างพื้นที่ต้นแบบสำคัญเร่งด่วน  โดยการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกลุ่มเยาวชนที่เข้มแข็งในพื้นที่

 248 total views,  1 views today