Select Page

วันนี้ (27 มิถุนายน 2563) ที่ห้องประชุมพนมไพร กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ค่ายรามคำแหง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา  พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ที่ผ่านการอบรมกิจกรรมเพิ่มศักยภาพวิทยากรผู้สอนภาษาไทย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาผู้สอนภาษาไทยแบบครบวงจร” โดยมี นายประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจการพิเศษ ศอ.บต. พลตำรวจตรี นิตินัย หลังยาหน่าย ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 พ.ต.อ.สถาพร แก้วสนิท ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43  ผู้แทนจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และ 44  ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และ 44 ทั้ง 18 แห่ง ผศ. ยุพดี ยศวริศสกุล อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 36 คนเข้าร่วม

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพวิทยากรผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และ 44 ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ ที่ได้จากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาการเรียนภาษาไทยอาจมีด้วยกันในสองส่วน ทั้งในส่วนของความคุ้นชินกับภาษาถิ่นหรือการเรียนภาษาที่อาจมีความยาก และอีกส่วนคือการไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาเพราะอาจอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือมีฐานะยากจน ดังนั้นการทำหน้าที่ครูภาษาไทยจึงมีความสำคัญกับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก เพราะถือว่าเป็นแม่พิมพ์ในการหล่อหลอมให้เยาวชนไทยสามารถเดินไปข้างหน้า และภาษาไทยยังเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นตัวกลางเชื่อมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย  โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับสั่งให้ ศอ.บต. เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหลายภาคส่วนในการคัดสรรและเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อทำให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล รู้จักและรักภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งจะไม่ไปเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ แต่จะทำให้รู้ว่าภาษาไทย คือ กุญแจที่จะไขไปสู่โอกาสในภายภาคหน้า และสามารถยกระดับการศึกษาในพื้นที่ให้เท่าเทียมกับเด็กในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ขอให้ทุกคนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทำให้เด็กเยาวชนเติบโตเป็นอนาคตที่ดีของแผ่นดินใต้ต่อไป

ด้านตัวแทนผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ เผยว่า ตนพร้อมที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับใช้กับการสอนในพื้นที่ จากเดิมอาจพบปัญหาการเรียนการสอนอยู่บ้าง แต่มาครั้งนี้ได้รับความรู้และเทคนิควิธีการต่างๆมากมาย อีกทั้งต้องปรับการสอนให้เข้ากับ New Normal วิถีชีวิตแบบใหม่  จึงเชื่อว่าการเตรียมความพร้อมที่ดีจะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และยกระดับศักยภาพด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นห่างไกลให้สามารถอ่านออก เขียนได้ แข่งขันกับเยาวชนในภูมิภาคอื่นๆได้ดียิ่งขึ้น

 

 271 total views,  1 views today