Select Page

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2563) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมปรึกษาหารือแผนปฏิบัติการ การใช้ประโยชน์ที่ดินและการดำเนินการป่าชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างความยั่งยืน พ.ศ 2563 ถึง 2568 โดยมีสภาเกษตร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด ให้ประชาชนมีรายได้และความยั่งยืนทางอาชีพในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

โดยทิศทางการขับเคลื่อนป่าชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดสรรเพาะพันธ์กล้าไม้ที่จะนำมาปลูกในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลและแจกจ่ายแก่ประชาชนบางส่วนแล้ว ซึ่งแต่ละชนิดจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ก็สามารถลงดินได้ โดยมีแผนการปฏิบัติแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ใน 1 ปี ส่งเสริมการปลูกป่าชุมชน ตามพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ระยะต่อเนื่อง 1-3 ปี มุ่งเน้นการขยายพื้นที่ปลูกในที่ดินสาธารณประโยชน์ เชื่อมโยงกับโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดินอย่างเป็นระบบ  และระยะยั่งยืน 3-5 ปี มุ่งเน้นการบริหารจัดการกลไกภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า สภาพป่าในพื้นที่ขณะนี้ น้อยลงทุกขณะ เนื่องจากมีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีที่ดินทำกินน้อย จึงต้องขยับใช้ที่ดินชองรัฐ พื้นที่ต้นน้ำ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และที่ดินสาธารณประโยชน์ ใช้เป็นพื้นที่ทำกิน จึงเกิดความไม่สมดุลในการรักษา โดยการรุกคืบพื้นที่ห้าม เกิดจากความยากจนของประชาชน โครงการนี้จึงดำเนินการขึ้น เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆเพื่อดูแลผืนป่าและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางธุรกิจ

สำหรับแผนปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินและการดำเนินการป่าชุมชนฯ ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล 5 ด้าน คือ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการตลาด และการจัดการทรัพยากร หนุนเสริมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมน้อมนำพระราชดำริการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางส่งเสริมที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ของประชาชน ที่ดินสาธารณประโยชน์ในโครงการ 1 ตำบล 1 พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ป่าชุมชน ในการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในระดับชุมชนและท้องถิ่น พร้อมอนุรักษ์พื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์และสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน

 289 total views,  1 views today