Select Page

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2563) เวลา 13.00 . ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาสินค้า พื้นถิ่นเพื่อการส่งออก (พัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวสาร) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและมาตรฐานสินค้าพื้นถิ่นให้ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลและสามารถส่งออกได้ โดยมี นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนผู้แทนที่เกี่ยวข้องของ ศอ.บต. เข้าร่วม ห้องประชุมกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ชั้น 2 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสินค้าพื้นถิ่นเพื่อการส่งออก เป็นการสนับสนุนสินค้าเศรษฐกิจฐานรากมาต่อยอดพัฒนาสินค้าชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ประกอบกับนโยบายของผู้บริหารในการพัฒนาสินค้าชุมชนในพื้นที่ จชต. และช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแนวทางการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ จชต. ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มวิสาหกิจผู้ประกอบการและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้

สำหรับการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากที่รัฐบาลให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยพยายามยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงได้กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาครัวไทยสู่ครัวโลก ซี่ง ศอ.บต. ได้ดำเนินการตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านการพัฒนาภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตและธุรกิจฮาลาล เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 80 มีการบริโภคอาหารตามหลักการฮาลาล เป็นจุดแข็งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของธุรกิจฮาลาลในภูมิภาคและอาเซียน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาสินค้าพื้นถิ่นเพื่อการส่งออก เพื่อให้เกิดการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เกษตรแปลงใหญ่ (ข้าว) และกลุ่มผู้ผลิตข้าวสารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้จัดหาแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรม ซึ่งจะมีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมโครงการ และออกแบบบรรจุภัณฑ์และจัดทำบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ รวมถึงแนวทางการตรวจติดตามผลการดำเนินงาน จากการหารือร่วมกันพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพในการเป็นผู้ส่งออกข้าวในตลาดอาเซียนที่ดีได้ หากมีการผลักดันอย่างจริงจังจากภาครัฐ

 256 total views,  1 views today