Select Page

วันที่ 25 มีนาคม 63  ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการทำงานผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์โดยใช้โปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ระยะไกล (Remote Control) สำหรับควบคุมการทำงานของหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถทำงานได้ทุกที่ด้วยระบบอินเตอร์เน็ต โดยใช้อุปกรณ์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการควบคุมการทำงาน และการแบ่งปันไปออนไลน์  (File Sharing Online) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นข้าราชการ พนักงานราชการและเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. จำนวน 50 คนเข้าร่วม

ทั้งนี้การประชุมได้จัดขึ้นตามแนวทางการประชุมของคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(Digital Government Development Committee) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 จากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งหน่วยงานราชการต้องเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดในประเทศไทย  โดยต้องเตรียมความพร้อมให้สามารถทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างต่อเนื่อง

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานต่างๆ มีกระบวนการรองรับและนำร่องการดำเนินงานเมื่ออยู่ในช่วงของการจำกัดการเดินทางว่า ในห้วงเดือนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามีการจำกัดการเคลื่อนไหว การเดินทาง การรวมกลุ่มต่างๆ ดังนั้น ศอ.บต. จึงเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเตรียมความพร้อม โดยหากมีการกำหนดปิด มหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยราชการต่างๆ ก็ต้องมีแนวทางในการเริ่มหมุนเวียนการทำงาน ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมเมื่อต้องมีการทำงานที่บ้าน หรือจากที่อื่นๆ ซึ่งหน่วยราชการต้องเดินหน้าต่อเพราะจะหยุดไม่ได้ วันนี้จึงได้มีการอบรมผู้แทนส่วนต่างๆของ ศอ.บต. ให้มีความรู้ในการทำงานผ่านโปรแกรมระบบดิจิทัลออนไลน์ ในกรณีที่ต้องมีการจำกัดการเคลื่อนที่และต้องปฏิบัติงานที่บ้าน (work from home) ให้สามารถเชื่อมโยงในระบบต่าง ๆ ไม่ให้เกิดการสะดุดและสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานนำร่องที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเป้าหมายสำคัญในการที่หยุดโรคโควิด-19 นี้ได้  ผู้คนจะต้องหยุดการรวมกลุ่ม หยุดการเคลื่อนที่ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดจนกระทั้งควบคุมสถานการณ์ได้ โดยหยุดพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่นการประชุมในห้องประชุมขนาดใหญ่ การทำงานในห้องทำงานที่มีความแออัด การเดินทางไปในที่สาธารณะ เป็นต้น ฉะนั้นการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีที่สมัยใหม่มาปรับใช้อย่างจริงจังและสอดรับกับการดำเนินงานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 90 total views,  1 views today