Select Page

จากปัญหาคนไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนั้นหมายถึงผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ในฐานะการเป็นประชาชนที่มีสัญชาติไทย ทั้งนี้ปัญหาของคนไร้สัญชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญ  ในการแจ้งเกิด รวมถึงมีความลำบากในการเดินทางจึงทำให้ละเลย ไม่ใส่ใจ  ตลอดจนการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการด้านเอกสาร จึงทำให้  ในพื้นที่ยังคงมีประชาชนที่ยังเป็นกลุ่มไร้สัญชาติ ข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่านับตั้งแต่ ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีบุคคลไร้สัญชาติหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน 1,107 คน และอยู่ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 256 คน ซึ่งในจำนวนนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติ โดยมีการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมา

กิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวไทยตามพระกระแสรับสั่งจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้นที่ พระราชดำเนินมาปฏิบัติ       พระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงมีความห่วงใยประชาชน เรื่องการให้สัญชาติกับคนที่ไร้สัญชาติทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้จัดกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA)  โดยมีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กระทรวงการต่างประเทศ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  เปิดกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือไร้สัญชาติประจำปี 2563 โดยมีประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม DNA จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 382 คน

“โครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA เป็นการเริ่มต้นเพื่อกำเนิดชีวิตใหม่แก่พี่น้องที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ให้ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับทั้ง สิทธิในการเข้ารักษาพยาบาล สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพ ในการประกอบอาชีพการงาน ตลอดจนสิทธิทางด้านการศึกษาของเยาวชน” “หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องอาชีพ และความเป็นอยู่ก็จะดำเนินการดูแลในขั้นต่อไป ตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และคาดว่าในปีนี้จะสามารถแก้ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติได้ให้เหลือน้อยที่สุด จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในพื้นที่ต่อไป เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

นางสาว รอฮานา จาแน  มารดาของหนึ่งในผู้ที่เข้ารับการตรวจสารพันธุ์กรรม DNA ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจมาก ที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง ศอ.บต.ได้จัดให้มีกิจกรรมนี้ขึ้นทำให้รู้ว่า “ภาครัฐไม่เคยทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง” ซึ่งหากต้องดำเนินขั้นตอนเพียงคนเดียว  ลูกอาจไม่สามารถเรียนหนังสือและไม่รู้ภาษาไปตลอดชีวิต และตนได้ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้หากได้รับบัตรประชาชนแล้ว จะพาลูกไปสมัครเรียนเพื่อให้พวกเขามีการศึกษาที่ดี สามารถอ่านออกเขียนภาษาไทยได้เหมือนเด็กทั่วไป

นายฮาบีบ กะดะแซ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการตรวจคัดกรองสารพันธุกรรม DNA เปิดเผยว่า สาเหตุที่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดนั้น เกิดจากพ่อกับแม่ได้หย่าร้างกัน อีกทั้งพ่อมีร่างการที่พิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ก็เลยไม่มีใครดำเนินการเรื่องให้ ทำให้ตนรู้สึกว่าที่ผ่านมา เราเสียสิ่งที่เราควรจะได้รับไปอย่างไร้ประโยชน์  โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ทางภาครัฐได้ให้ความสำคัญ ทั้งเจ้าหน้าที่จากทางอำเภอคอยประสานข้อมูลข่าวสารมาตลอด รวมถึงอธิบายความสำคัญของการมีตัวตนอยู่ในสังคม ตลอดจนสิทธิที่เราจะได้รับเมื่อได้รับบัตรประชาชนแล้ว ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญ และไม่ควรปล่อยประละเลยอีกต่อไป ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ และส่วนราชการที่ทำให้ตนและครอบครัวที่ถือเป็นบุคคลไร้สัญชาติ กลับมามีตัวตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป

นายแพทย์วิระชัย สมัย หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานในการตรวจสารพันธุกรรมDNAให้กับบุคคลที่ไร้สัญชาติ สามารถทำให้ทำให้พวกเขาเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐตามที่พวกเขาควรจะได้รับ โดยการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตามหากผลตรวจที่ออกมาเป็นแค่กระบวนการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนำผลตรวจไปขึ้นทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนในการเป็นคนไทยอย่างถูกต้องต่อไป

อย่างไรก็ตามในปี 2563 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งเป้าในการเก็บตัวอย่างและตรวจสารพันธุกรรมคนไร้สัญชาติ ไว้จำนวน 541 คน ซึ่งทุกคนจะได้มีชื่อในทะเบียนราษฎร ได้รับสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยเหมือนประชาชนทั่วไป โดยไม่ตกอยู่ในสภาพของคน “ไร้สัญชาติ” อีกต่อไป

“คนไร้สัญชาติ” คือ บุคคลที่ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าเป็นคนชาติของประเทศนั้น โดยสถานะของการไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และคนที่เกิด ในประเทศ เช่น กรณีของชนกลุ่มน้อย และมีบุตรที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยคน เข้าเมืองจะถือว่าคนเหล่านี้มีสถานะ เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมือ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อ้างอิง https://www.matichon.co.th/article/news_599580

 

 829 total views,  1 views today