Select Page

วันที่ 23 มกราคม 63 ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นสักขีพยานในการบันทึกความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับผู้แทนสองบริษัทในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บริษัทไมโครกรีน อินโนเวชั่น จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮันเดรส ว้อยซ์ โดยมีผู้แทนหน่วยงานเพื่อการบันทึกความร่วมมือ อาทิ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาลัยเขตปัตตานี นายสุทัน ศรีใจพระเจริญ ประธานบริษัทไมโครกรีน อินโนเวชั่น จำกัด นายภคินวัตน์ อุดมพงษ์ไพบูลย์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮันเดรส ว้อยซ์ ตลอดจนนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับการบันทึกความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับบริษัท ไมโครกรีน อินโนเวชั่น จำกัด จะเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และทักษะทางด้านการควบคุมโดรนทางการเกษตร และการนำโดรนไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพและหารายได้ระหว่างเรียน ในขณะอีกหนึ่งการบันทึกความร่วมมือกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮันเดรส ว้อยซ์ จะเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีความสามารถและทักษะด้านการประกอบการทางธุรกิจที่สอดคล้องกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้มีความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาอาชีพและหารายได้ โดยจะเป็นการรวมกลุ่มนักศึกษาที่มีความสามารถมาต่อยอดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการบันทึกความร่วมมือของมหาวิทยาลัยฯกับสองบริษัท คือการพัฒนาหลักสูตรการสอนสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจ รวมถึงการพัฒนางานวิจัยเพื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ศอ.บต. ให้ความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการผลักดันการพัฒนางานวิจัย เพื่อนำมาปรับใช้และต่อยอดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการส่งเสริมการจัดอบรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้มีความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ เช่น โครงการอบรมนักธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Yes) และยังได้ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนางานวิจัย อาทิ การบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาพันธุ์ไผ่เพื่อการส่งออก การบันทึกความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาวิจัยในการควบคุมโรคระบาดในพืช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาทักษะเพื่อการใช้โดรนทางการเกษตรและการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดงานพัฒนาทางวิชาการให้มีประสิทธิภาพและความทันสมัย ตอบรับความต้องการของตลาดและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีให้เท่าทันยุค 4.0 ให้มีอาชีพทางเลือกแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

 274 total views,  1 views today