Select Page

นางกนกรัตน์  เกื้อกิจ  ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.  พร้อมด้วยนางสาวปนัดดา  อิสเฮาะ นิติกรชำนาญการพิเศษ  กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (กสม.)นางสาวซูไวดา  หะยีวาเงาะ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบย.) และนางโชรยา  จามจุรี  ประธานคณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เข้าร่วมการประชุมปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี: การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง +25  (Asia-Pacific Ministerial Conference on the Beijing + 25 Review)  ในระหว่างวันที่ 27 -29 พฤศจิกายน 2562  ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNITED NATIONS) กรุงเทพฯ  โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้แทนไทย จำนวน 23 คน เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งมีระดับรัฐมนตรีจาก 19ประเทศ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ จำนวน 189ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ

  สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีสาระสำคัญของปฏิญญาปักกิ่งฯ คือ การประกาศ เจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความเสมอภาค การพัฒนา และสันติภาพ ด้วยการระบุประเด็นที่น่าห่วงใยเป็นพิเศษในการพัฒนาสตรี 12 ประเด็น  ซึ่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนประเด็นตามปฏิญญาปักกิ่งฯ เป็นไปตามกรอบทิศทางการดำเนินงานของภาคีสมาชิก เพื่อให้ตระหนักถึงการพัฒนาสตรี  ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การพัฒนาบทบาทสตรี การขจัดความยากจน การปราศจากความรุนแรง สันติภาพ และสิ่งแวดล้อม สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) มีการบูรณาการที่สำคัญผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งมีความชัดเจน เชื่อมโยง และสอดคล้องกับกรอบนโยบาย กฎหมาย และแผนพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาค  การส่งเสริมบทบาทและพลังสตรี ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ  การส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายสตรีในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งการพยายามขจัดความยากจน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี และการสนับสนุนและรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง

  ในส่วนของ ศอ.บต.ได้มีการรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีของประเทศไทย ว่ามีการบูรณาการร่วมกับองค์กรทางศาสนาอิสลามของประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องวางมาตรการคุ้มครองปกป้องการแต่งงานของเด็กต่ำกว่า 17 ปีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการควบคุมผู้หญิงและเด็กภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กและสตรีอย่างดีที่สุด

 117 total views,  1 views today