Select Page

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 น.) ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ การขับเคลื่อนแผนงานแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ภายใต้โครงการ  “การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดทำแผนแม่บทตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6  (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส-เปรัก-กลันตัน-สุมาตราใต้)” โดยมี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฎอนี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ผู้แทนกลุ่มงานยุทธศาสตร์จังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานโครงการความร่วมมืออนุภาค IMT-GT หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

เนื่องด้วยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีภารกิจ ในการอำนวยการบริหารจัดการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการภาครัฐ และพัฒนาเพื่อความมั่นคง และการสร้างความเข้าใจด้วยการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติและเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการของทุกหน่วยงานให้เป็นเอกภาพ จัดระบบเสริมการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องและเร่งรัด ผลักดัน การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนงาน/เป้าหมาย เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับภูมิภาคอื่น ๆ มีบทบาทหน้าที่ระดมส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สนองตอบนโยบาย ความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ศอ.บต. ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดระเบียงเศรษฐกิจ EC6 ที่ครอบคลุม 3 จังหวัดในพื้นที่  จึงเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยเชื่อมกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในการขับเคลื่อน EC6 ให้เห็นเป็นรูปธรรมเร็วที่สุดโดยต้องเร่งจัดทำโครงสร้างคณะทำงานในระดับอนุภูมิภาค IMT-GT และเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ EC6 และต้องสร้างกลไกในการขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงระเบียง EC6

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการประชุมถอดบทเรียนเพื่อจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ “ขับเคลื่อนแผนงานแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส-เปรัก-กลันตัน-สุมาตราใต้)” เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในพื้นที่ กลุ่มตัวแทนของภาคเอกชน และภาคประชาชน และริเริ่มความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนแนวระเบียง EC6  ในภาพการทำงานทั้งสามประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิด การทำงานในรูปของคณะทำงานจากสามประเทศ  และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ ศอ.บต. ภาคเอกชน และภาควิชาการของไทยได้เข้าใจสภาพความต้องการและศักยภาพในพื้นที่ผ่านการศึกษาและสำรวจ เก็บข้อมูล โครงการที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่ EC6 และโครงการในแผนงาน IMT-GT ที่เชื่อมโยงเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ในการจัดทำแผนแม่บทระเบียง EC6 ได้ และเพื่อให้ประโยชน์ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 นี้ตกอยู่กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด  โดยแนวคิดการพัฒนาหรือข้อเสนอโครงการจะต้องริเริ่มมาจากความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่ผนวกกับสภาพปัจจุบันจริงและรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ในขณะเดียวกัน จะต้องสอดคล้องกับบริบททางสังคมภายใต้ความมั่นคงทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่นี้อีกด้วย

 

 100 total views,  1 views today