Select Page

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) ที่ลานเวทีสุขภาพ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานเปิดตัวหนังสือ อานีส เป็นหัด เพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัด โดยมีนายแพทย์บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เทิดพงศ์ ทองศรีราชา หัวหน้าโครงการฯ นายประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณาจารย์และนักศึกษา พร้อมประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและรับหนังสือนิทาน อานีส เป็นหัด เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนต้านหัดเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เผยว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคหัดระบาดในพื้นที่ที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุหลักคือ เด็กได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบและไม่ครอบคลุม ประมาณร้อยละ 60 ของเด็กในพื้นที่ ซึ่งยังมีเด็ก 1 ใน 3 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้โรคหัดระบาด นิทานต้านหัดเรื่อง อานีสเป็นหัด จึงถูกจัดทำขึ้นโดยอาศัยบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสังเกตได้จากชื่อของตัวละคร ทั้งนี้นิทานเล่มนี้ยังได้รวบรวมความเป็นจริงด้านวัฒนธรรม และความเชื่อเรื่องวัคซีนไม่ฮาลาลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ยอมนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนจนทำให้มีสถิติการป่วยและเสียชีวิตสูงในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้คณะผู้จัดทำหวังว่า นิทานเรื่อง อานีสเป็นหัด จะเป็นสื่อในการสร้างความรู้แก่ผู้ปกครองและเด็ก จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้พ่อแม่นำลูกไปฉีดวัคซีนตามกำหนดด้วย

ทั้งนี้หนังสือนิทาน “อานีส เป็นหัด “ เป็นผลงานของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยใช้หนังสือนิทานในการสร้างความเข้าใจถึงภัยและการป้องกันโรคหัด เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหัดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 4,372 ราย เสียชีวิตแล้ว 23 ราย และในปี 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 2,926 ราย เสียชีวิต 18 ราย โดยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีนหัดมาก่อน ซึ่งกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัด เนื่องจากได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยมีสาเหตุความเชื่อด้านศาสนา วัคซีนไม่ฮาลาล และปัญหาอนามัยแม่และเด็ก

อย่างไรก็ดี ศอ.บต. ในฐานะ หน่วยงานประสานและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการหารือหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ติดตาม เฝ้าระวัง และสนับสนุนให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในทุกช่องทาง พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา 7 คณะ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่ด้วย

 193 total views,  2 views today