Select Page

​ ​ ​ ​ วันนี้ ( 20 กรกฎาคม 62 ) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดยะลา ณ ศอ.บต. เพื่อพบปะ พูดคุย และรับฟังการแก้ไขปัญหาทุกด้าน ทุกมิติในพื้นที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ โดยมีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเสนอปัญหาและความเห็นในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้

​ ​ ​ ​ ภายหลังการรับฟังการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดที่รับฟังว่า ภาพรวมมี 2 ด้านใหญ่คือ ปัญหาด้านความมั่นคง และปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในเรื่องความมั่นคงขณะนี้สถานการณ์เป็นไปในทางบวก ตัวเลขการก่อสถานการณ์ความไม่สงบลดลงตามลำดับ เช่นเดียวกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ดีการรับฟังปัญหาในวันนี้มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างถนน ท่าเรือ สนามบิน และยังมีเรื่องพืชผลการเกษตร ยาง ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ และลองกอง ซึ่งเป็นผลิตผลที่มีอยู่มากจนเกิดปัญหาราคาตกต่ำ ล้นตลาด ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข จึงสั่งการกระทรวงพาณิชดูแลแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการหาช่องทางระบายทั้งตลาดไทยและเทศ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องประมง ซึ่งมีโจทย์สำคัญที่จะต้องทำให้องคาพยพทั้ง 4 ส่วน ประมงพื้นบ้าน พาณิช ผู้แปรรูป และผู้ส่งออกสามารถมีรายได้ด้วยกันทุกฝ่าย รวมถึงข้อเรียกร้องที่ต้องการเห็นกฎหมายใหม่ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.สภาการประมงเห็นชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน และพ.ร.บ.อนุรักษ์ทะเลไทย เพื่อให้ได้ทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีบรรจุไว้เป็นกฎหมายสำคัญที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในนามรัฐบาล

​ ​ ​ ​ “ทั้งนี้ยังมีเรื่องการค้าการลงทุน ที่ประชุมเรียกร้องให้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาเป็นลำดับแต่ต้องการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากสินค้าฮาลาลมีตลาดสินค้าที่ใหญ่ คาดว่าจะทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มาก สำหรับเรื่องการค้าชายแดน คิดว่าถ้าดำเนินการให้คึกคักจะสามารถดึงนักช็อปทั้งคนไทยและประชาชนมาเลเซียเข้ามาได้มาก ซึ่งได้มอบหมายกระทรวงพาณิชดำเนินการสานงานแล้ว”

​ ​ ​ ​ ด้านพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมงานพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติการพัฒนา ศอ.บต. ตอนหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ ศอ.บต. ที่ผ่านมา เร่งแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการมี “ชีวิตที่ดีกว่า” โดยแก้ปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาทุกมิติเพื่อยุติความรุนแรง บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชนแบบไร้รอยต่อ โดยมีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาคือ กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่มีโอกาสถูกโน้มน้าวต่อต้านรัฐ ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นว่า สังคมไทย จะให้ชีวิตที่ดีกว่าจากการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจ

​ ​ ​ ​ พลเรือตรีสมเกียรติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ศอ.บต. เร่งแก้ไขปัญหา 3 ด้าน คือ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นแกนสู่ความมั่นคง การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามศักยภาพพื้นที่ ตามวิถีของชุมชน สู่หนทางความมั่งคั่ง การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการภาครัฐที่สอดคล้องกับพื้นที่วิถีสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีความพอใจในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในพื้นที่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุข้อมูลการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2561 พบว่า  การลงทุนของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ของผู้ประกอบการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 22.6 ในขณะที่ การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง โดยใน 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1.5 ล้านคน 1.6 ล้านคน และ 1.7 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น โรงงานแปรรูปผลไม้ โรงงานมะพร้าว โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ โรงไฟฟ้าชีวะมวล  โรงงานแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่ง

​ ​ ​ ​ “ขณะที่มิติความมั่นคงพบว่า หลายพื้นที่ที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน เช่น อ.เบตง ที่มีบริการที่พักในลักษณะโฮมสเตย์เกิดขึ้นกว่า 30 แห่ง ส่งผลให้สถิติความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก”

 191 total views,  1 views today