Select Page

      วันนี้ (14 มิถุนายน 2562 เวลา 09.00 น.) ที่ ห้องประชุมน้ำพราวบอลรูม โรงแรมซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมประชุมปฐมนิเทศการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งมี นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน โดยมี นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการ ระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ภาคเอกชน สถานศึกษา คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก และองค์กรภาคเอกชนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วม

      โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกิดขึ้นจากกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุล ทั้งด้านคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเป้าหมายที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยทุกคน ด้วยการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของการบริหารจัดการ เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการพัฒนาการขับเคลื่อนกกรอบแผนแม่บทลุ่มน้ำตามกำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมสมดุล  ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่นำไปประกอบในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

      นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกหน่วยงานในพื้นที่จะได้พบปะและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเชิงระบบ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนได้ใช้เวทีแห่งนี้ ในการร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย น้ำแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่ ร่วมถึงการจัดการให้เป็นระบบ ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนเพื่อให้ข้อมูลบริบทของพื้นที่แก่คณะผู้ศึกษา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไปประกอบการศึกษาพัฒนาโครงการฯ ให้สอดคล้องกับพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวใต้

      อย่างไรก็ตาม ในการประชุมในครั้งนี้ เป็นการชี้แจ้งการประเมินของโครงการฯ ถึงสภาพปัญหาอุปสรรคของปัจจุบันในการบริหารจัดการน้ำและขอบเขตของโครงการฯ เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบทุกส่วนได้ร่วมเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะถึงปัญหาต่างๆ และบริบท วัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนอาชีพของประชาชนที่มีความสำคัญต่อการใช้น้ำให้มีความสมดุลมากที่สุดในพื้นที่

 65 total views,  1 views today