Select Page

       วันที่ 19 เมษายน 2562 เวลา 14.00 น. ที่ โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการหารือเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ และสานสัมพันธ์ไทย – มาเลเซีย  โดยมี นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส    นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  นางสาว ประภาพร จันทรัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ศอ.บต. ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดยะลา ตลอดจนผู้แทนผู้บริหาร จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฎอนี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

       สำหรับ  การหารือครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่จะผลักดันร่วมกันเพื่อเตรียมการก่อนการทำบันทึกความร่วมมือด้าน สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนด้านทรัพยากรมนุษย์ของทั้งสองประเทศ ในการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดผลผลิต ประสิทธิภาพในด้านการพัฒนาเยาวชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ตลอดจนเกิดการบูรณาการและความร่วมมือกับทั้งสองประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ รอยต่อเขตแดนของประเทศไทย และมาเลเซีย เพื่อให้สามารถขยายสินค้าและส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

       พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จากความเห็นชอบความร่วมมือสานสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐกลันตันและตรังกานู ภายใต้โครงการ Thailand – Malaysia Border Network (TMBorN) เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู และ 12 มหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ  University Malaysia Kelantan ที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งกรอบการดำเนินการที่ ศอ.บต. รับเรื่องเพื่อการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล มีความชัดเจนในการดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ ภาคเกษตร อุตสาหกรรมภาคเกษตร รวมถึงการส่งเสริมในเรื่องต่าง ๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารจัดการที่ดึง 2 ประเทศมาร่วมมือกัน โดยการประชุมในวันนี้เป็นการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 2 ฟากฝั่ง และหาแนวทางที่จะทำให้เยาวชนทั้ง 2 พรมแดน ได้รับโอกาสในการพัฒนา และเชื่อมต่อโดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐาน ซึ่งมหาวิทยาลัยกลันตันได้เสนอว่าอยากพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะธุรกิจเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีงานทำในวันข้างหน้า ซึ่งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ของไทยได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหารือกรอบความร่วมมือ ศอ.บต. พร้อมที่จะเติมเต็มเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับ 2 ฟากฝั่ง และพร้อมผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์บ่มเพาะในภาคธุรกิจ โดยนำเอางานวิจัยหรือผลงานมาปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนอยู่จบมามีงานรองรับ เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างแท้จริงต่อไป

 46 total views,  1 views today