Select Page

      วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมเซาเทิร์นวิวปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. ได้ร่วมพบปะ และให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้าอบรมจักสานในกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริฯ ในโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนที่ผู้เข้าอบรมจะเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาและดำเนินการนำความรู้ที่เข้าอบรมไปเผยแพร่แก่เยาวชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ได้ฝึกฝนการทำจักสาน พร้อมถ่ายทอดแก่เยาวชนเป้าหมายในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมต่อไป โดยมีครูผู้สอน ผู้ปกครอง ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทางสถานศึกษาเป้าหมายได้คัดเลือก และผู้ที่มีจิตอาสาที่มีความสนใจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เข้าอบรมในครั้งนี้

นายอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าอบรมทุกคน ที่ได้เสียสละเวลาของทุกคนเพื่อเข้าอบรมในครั้งนี้ จากการได้เห็นภาพบรรยากาศในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก เพราะทุกคนมีความตั้งใจ อดทน และมุ่งมั่นต่อการเรียนรู้ถึงกระบวนการผลิตการจักสาน ถึงแม้บางครั้งอาจจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ทุกคนก็สามารถทำให้มันผ่านพ้นไปได้ เพราะว่าเราเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำคัญยิ่ง กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นดำริจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้เยาวชนในพื้นที่ได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่กับพื้นที่ปลายด้ามขวานของเราตลอดไป

      ด้าน นางสุภาภรณ์ รักเถาว์ ครูผู้เข้าอบรมจากโรงเรียนวัดพระพุทธ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวด้วยความรู้สึกที่ปลื้มใจว่า ตนเองไม่มีความรู้ด้านการจักสานเลย วันแรกกับการเข้าอบรมรู้สึกกังวลใจอย่างมาก กลัวว่าจะทำไม่ได้ สุดท้ายต้องขอบคุณวิทยากรที่มาให้ความรู้จนสามารถฝึกฝนตนเอง และครูอีกหลายๆโรงเรียนสามารถทำได้ ถึงแม้ผลงานออกมาอาจจะไม่ได้สวยสักเท่าไหร่ แต่ทุกคนตั้งใจทำมันด้วยหัวใจ จนได้รู้ว่า กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์จักสานแต่ละชิ้น ผู้ผลิตจะต้องมีความอดทนสูงขนาดไหน และต่อไปนี้เมื่อไปซื้อสินค้าดังกล่าวตัวเองจะไม่ต่อรองราคาเด็ดขาด เพราะรู้ว่ากว่าจะได้สินค้า 1 ชิ้น จะต้องใส่ใจ และประณีตศิลป์อย่างมาก ขอขอบคุณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และได้จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา และขอสัญญาว่าตนเองกลับไป จะฝึกฝนประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ และไปฝึกฝนเยาวชนในพื้นที่ให้มีความรู้ต่อไป

      สำหรับ กิจกรรมดังกล่าวเมื่อได้จบสิ้นไปแล้ว ทาง ศอ.บต. จะมีการต่อยอดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลงานของแต่ละโรงเรียนที่เข้าอบรม พร้อมจะมีการอบรมอีกครั้งเพื่อทำการฝึกฝนกลุ่มเป้าหมายเพื่อผลิตชิ้นงานในรูปแบบอื่น ๆ ให้มีความหลากหลายและชำนาญต่อการเป็นผู้รู้ สู่ผู้สืบทอดในอนาคตต่อไป

 416 total views,  1 views today