Select Page

      วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ โรงแรมเซาเทิร์นวิวปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริฯ ในโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนำผู้แทนจากสถานศึกษาเป้าหมาย จำนวน 50 โรงเรียน อาทิ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทางสถานศึกษาได้คัดเลือก และผู้ที่มีจิตอาสา ที่ความสนใจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เข้าอบรม เพื่อทำการฝึกฝนทักษะการผลิตงานฝีมือของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ โรงเรียนในเครือข่ายพระราชดำริฯ เร่งผลัดดันการอนุรักษ์งานสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้รู้ สู่ ผู้สืบทอด เพื่อถ่ายทอดความรู้ และกระบวนการสอนจัดสานผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ลูกหลานที่อยู่ในชุมชนได้อนุรักษ์ต่อไป โดยในครั้งนี้มีนางสาวนิชาภา หมื่นไกร ผู้อำนวยการกลุ่มขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศอ.บต. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพบปะและให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรของกลุ่มกระจูดบ้านโคกพะยอม ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มาให้ความรู้ในครั้งนี้ด้วย

      นางสาวนิชาภา หมื่นไกร ผู้อำนวยการกลุ่มขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศอ.บต. ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค้าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่าง ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะ เป็นต้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงามขาดการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลังน้อยลง

      ทั้งนี้ กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริฯ ในโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกิจกรรมครั้งนี้     มีประโยชน์ต่อครูผู้สอน ผู้ปกครอง และปราชญ์ชาวบ้านที่ได้มาฝึกปฏิบัติการทำผลิตภัณฑ์ ทั้งการจักสานให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง อาทิ เสื่อ กระเป๋า ตะกร้าใส่ของ กระบุง หรืองานหัตถกรรมอื่น ตามนโยบายของรัฐบาลด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อศึกษาเรียนรู้ และเผยแพร่สู่สังคมโลก ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดเทคนิคการจักสานแก่เยาวชนในสถานศึกษาในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนต่อไป

 213 total views,  1 views today