Select Page

   วันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานฝ่ายพลเรือน (กสพ.) พร้อมด้วย นางอมีนา  ไชยกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการศึกษา (กสพ.) นายศิริวิตย์ ดอกแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานคณะรัฐมนตรีและราชการส่วนกลาง และนางสาวประภาพร จันทรัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์การต่างประเทศ กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบย.) เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   ซึ่งจัดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ณ ห้องประชุมประสงค์ สุ่นศิริ ชั้น 3 อาคาร 20 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยมี พลโท สมคิด ทับทิม หัวหน้าสำนักประสานภารกิจทางทหารกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด

   พลโท สมคิด ทับทิม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระบบการจัดการศึกษาในประเทศมาเลเซีย และร่วมหารือเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการวางแผน ทบทวน และร่วมกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดและรับฟังความเห็นทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซีย

   ทั้งนี้ ได้มีการร่วมหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระบบการจัดการศึกษาในประเทศมาเลเซีย (Education Management System of Malaysia) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐซาบาห์ ที่มีบริบทด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก University Malaysia Sabah (UMS) ประเทศมาเลเซียจำนวน 2 ท่านได้นำเสนองานวิจัย 2 เรื่อง อาทิ Mr. Aminuddin Lastar อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาและศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก และเคยเป็นครูผู้สอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้นำเสนอผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง ความก้าวร้าวและพื้นฐาน (Aggression and Its Foundation)

   โดย Mr. Aminuddin Lastar กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า เกิดจากปัญหาการศึกษาที่ผิดพลาดจนส่งผลต่อความก้าวร้าวของนักเรียน ซึ่งทฤษฎีความก้าวร้าวมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ ข้อคับข้องใจ (Frustration) และ ความกดดันทางอารมณ์ (Stress) ที่เกิดจากปัจเจกบุคคล (Identity) วัฒนธรรม (Culture) ระบบความเชื่อ (Belief System) และความปลอดภัย (Security) จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์จนเป็นสาเหตุของความรุนแรง หากปัจจัยเหล่านี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นก็จะสามารถลดความก้าวร้าวลงได้ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคม ส่วนงานวิจัยเรื่องที่ 2 เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติในประเทศมาเลเซีย ซึ่งนำเสนอโดย Dr. Soon Sing รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัย UMS รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษากล่าวว่า ระบบการศึกษาในภาพรวมโดยการกำกับดูแลจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการของประเทศมาเลเซีย ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นการเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของศาสนาอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยโรงเรียนยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดให้มีการสอนหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ถูกต้อง รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับพลเมืองที่ไม่เหมือนกัน ให้ความเท่าเทียมกัน และยึดหลักศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ โดยโรงเรียนดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง สำหรับในมหาวิทยาลัยได้คิดหลักสูตรความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติ (Ethic Relationship) และมีกรอบนโยบายการสร้างความยึดเหนี่ยวทางสังคม (Policy Framework for Social Cohesion) อีกด้วย

   อย่างไรก็ตาม พลโท สมคิด ทับทิม หัวหน้าสำนักประสานภารกิจทางทหารกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรทาง University Malaysia Sabah (UMS) จากประเทศมาเลเซีย ที่ได้ให้องค์ความรู้จากงานวิจัยภาคสนามที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ ซึ่งงานวิจัยของคณะอาจารย์ดังกล่าวถือเป็นองค์ความรู้ที่มีค่าเป็นประสบการณ์โดยตรงจากพื้นที่จริงที่มีความขัดแย้ง   ซึ่งความรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาที่สามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ความสงบ ความสุข และความสันติ ที่เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ จชต. ในอนาคต

 146 total views,  1 views today