Select Page

    ‘คำว่า “จับแพะเหวี่ยงแห” เริ่มหายไป เพราะมาตรการกลไกทางด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าถามว่า ประชาชนบางส่วนยังมีความไม่เข้าใจและรู้สึกว่าถูกรังแกหรือไม่ ตอบว่า มี แต่น้อยลงมาก’ พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร บิ๊กใหญ่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. บอกเล่าถึงสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
    “พบเห็นหรือรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีข้อสงสัย สามารถแจ้งสายด่วน 1880 ศูนย์ดำรงธรรม หรือบัณฑิตอาสา ศอ.บต. ที่มีอยู่ในทุกตำบล เพื่อหาคำตอบและร้องเรียนได้ แต่ขณะนี้ในแต่ละเดือนแทบไม่ปรากฎ ตัวเลขผู้ร้องเรียน ร้องทุกข์ให้เห็น ผิดจากช่วงแรกที่พื้นที่เกิดเหตุการณ์ พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร กล่าวขยายความในรายการ Thailand Live ฟังเสียงประเทศไทย ของนายสุทธิชัย หยุ่น ทางไทยพีบีเอส
สอดคล้องกับขั้นตอนการเข้าจับกุมและการบังคับใช้กฎหมาย ที่พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่า การเข้าควบคุมตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการซักถาม โดยจับกุมเป้าหมายอย่างชัดเจน และถูกต้องในตัวบุคคล โอกาสที่จะเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย คือ
การพิพากษาของศาล จึงค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ช่วงแรกของเหตุการณ์ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
ถูกพิพากษาเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถบังคับใช้กฎหมายของศาลได้
เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือ ตัวจริง
เนื่องจากมีกระบวนการรวบรวมวัตถุพยาน นำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยนำ
ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ‘การใช้มาตรการอาวุธ ถือว่าเป็นมาตรการสุดท้าย ที่รัฐจะเลือกปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่กระบวนการซักถาม เนื่องจากรัฐตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน แม้ในพื้นที่จะมีกฎหมายพิเศษให้ใช้ได้หลายฉบับ แต่รัฐก็เลือกใช้บางมาตรา และปฏิบัติทุกขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง
    “การแก้ปัญหาปากท้องคือ คำตอบที่ บิ๊กใหญ่ ศอ.บต. และโฆษก กอ.รมน. ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน ว่าจะสามารถแก้ไข ลดความขัดแย้ง และความรู้สึกเป็น ‘คนชายขอบ’ ของประชานชนในพื้นที่ไปได้อย่างหมดสิ้น โดยขับเคลื่อนแก้ไขไปพร้อมกับการสร้างความปลอดภัย ซึ่งพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เผยช่วงหนึ่งของการพูดคุยว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาและกลไกสำคัญในการคลายปมเยาวชน น้องๆคนรุ่นใหม่ในเรื่องความเลื่อมล้ำที่ติดค้างอยู่ในใจตั้งแต่รุ่นผู้ใหญ่ โดยรัฐบาลเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้ ภายใต้ “การพัฒนาไร้ร้อยต่อ มิติใหม่การพัฒนาชายแดนใต้” โดยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภาคการเกษตร การแปรรูป การตลาด และการท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด เพื่อสร้างงานแก่คนรุ่นใหม่
    “สิ่งเหล่านี้สร้างความเข้าใจที่ดีต่อประชาชนที่มีต่อรัฐได้ โดยไม่ต้องจับชาวบ้านมานั่งคุยและอธิบายเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา”
ด้านพลเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวเสริมว่า หน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งขณะนี้มิติทางด้านการพัฒนา ภายการนำของพลเรือตรีสมเกียรติ อยู่ในช่วงทะยานขึ้นอย่างน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบลงหรือไม่ และจะจบลงเช่นไร ผู้ที่แก้ไขปัญหาคงมิใช่เพียงหน่วยงานใหญ่และย่อย  อย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงหน่วยงานรัฐในพื้นที่ แต่ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกภาคส่วน ร่วมแก้ไข และสร้างวันใหม่ที่มีแต่รอยยิ้มของผืนแผ่นดินปลายสุดแดนสยามนี้ไปด้วยกัน

 151 total views,  1 views today