Select Page

    รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการผลักดันสร้างจุดเด่นของสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการขยายตลาดภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมุ่งให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสงบ สันติสุข ความมั่นคง ความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความสุขและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างยั่งยืน ตลอดจนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยใช้กลไกต่างๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีไปลงทุนในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการขยายกิจกรรมด้านการค้าการลงทุน และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

    ในขณะเดียวกันปัญหาเรื่องของความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการนอกพื้นที่ไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนกับผู้ประกอบการในพื้นที่ จชต. ส่งผลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ขาดโอกาสในการพัฒนาสินค้า และขาดเครือข่ายธุรกิจ  รวมถึงการขยายตลาดภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศและที่สำคัญไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกและการทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่

    กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีศักยภาพและความได้เปรียบจากการเป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน  และจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับมาเลเซียได้  จึงเริ่มต้นนำร่องด้วยการจัดโครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ตลาดอาเซียน ครั้งที่ 1” โดยได้กำหนดสินค้าเป้าหมายในพื้นที่คือสินค้าประมงแปรรูปและผลไม้  ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการค้าเสรี  การใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA กฎระเบียบทางการค้า  และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว

    รวมทั้งกระตุ้นผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดอาเซียนโดยเฉพาะมาเลเซีย ตลอดจนคัดเลือกและนำผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มายังกรุงเทพฯ เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการค้าขายมากขึ้น  การจัดโครงการในครั้งนี้มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสินค้าประมง อาหารทะเลแปรรูปและผลไม้ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในตลาดอาเซียน และยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ

    นายดวงอาทิตย์  นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การพบปะกับสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง ซึ่งผลิตปลาทับทิมส้ม โดยในพื้นที่มีการเลี้ยงปลาทับทิมจำนวนมาก สหกรณ์ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบปลา หรือกรือโป๊ะ ในอำเภอเดียวกัน  โดยเป็นสินค้าแปรรูปจากปลาหลังเขียวและปลาทูที่ได้จากการทำประมงในพื้นที่  และสหกรณ์ผู้ผลิตส้มโอปูโกยะรัง ในอำเภอยะรัง ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ของจังหวัดปัตตานี  เป็นการผลิตการเกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับมาตรฐานแปลงผลิต GAP โดยเป็นส้มโอเนื้อสีแดง รสชาติหวานปนเปรี้ยว คุณภาพชั้นดี

    ทั้งนี้สินค้าปลาทับทิมส้ม ข้าวเกรียบปลาหรือกรือโป๊ะ และส้มโอปูโกยะรัง เป็นสินค้าแปรรูปที่ได้ส่งออกไปตลาดมาเลเซียและจำหน่ายภายในประเทศ  แต่ปัจจุบันมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด  ซึ่งกลุ่มสหกรณ์ยังมีความต้องการพัฒนาคุณภาพ  ยกระดับมาตรฐานสินค้า  แปรรูปสินค้าหลากหลาย  เพื่อขยายการเข้าสู่ตลาดในช่องทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน

    พลเรือตรี สมเกียรติ  ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึง จากบทบาท และภารกิจใหม่ ศอ.บต. รองรับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เชื่อมโยง เชื่อมต่อ อุดช่องว่างครบวงจรไร้รอยต่อ  ด้วยการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งกำหนดให้พื้นที่อำเภอสุไหงโก – ลก เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ  โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลำเลียงขนส่งสินค้า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก ปรับปรุงสถานีรถไฟ สุไหงโก-ลก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้รองรับการส่งเสริมการค้าชายแดนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าในพื้นที่

    สำหรับการผลึกกำลังร่วมกันของผู้ประกอบการกับหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ครั้งนี้  จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรในชุมชนให้มีคุณภาพ  ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายในตลาดออนไลน์และออฟไลน์  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า  รวมถึงการเข้าสู่ตลาดมาเลเซียและอาเซียนได้อย่างเข็มแข็งมั่นคง โดย ศอ.บต ดำเนินการเชื่อมโยงและสร้างสมดุล การพัฒนาเศรษฐกิจทุกมิติ ให้มีการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ เกิดประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป

 

 239 total views,  1 views today