Select Page

    เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยคณะจากประเทศไทย โดยมี พลเอก ธิวา เพ็ญเขตกรณ์ ที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ด้านการข่าวกรอง) เป็นหัวหน้าพบปะพูดคุยกับนักศึกษามุสลิมที่ศึกษาอยู่ในจอร์แดน ณ โรงแรม Sheraton Amman กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน
    พลเอก ธิวา เพ็ญเขตกรณ์  ที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ด้านการข่าวกรอง) กล่าวต้อนรับนักศึกษาว่า การเดินทางมาเยี่ยมเยียนเพื่อเป็นการให้กำลังใจและรับฟังปัญหา ซึ่งดีใจที่ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเดินทางมาจากหลายเมืองเพื่อมาพบกัน ทั้งนี้รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. จะร่วมบรรยายในการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต
    ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ได้บรรยายถึงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่มุ่งหวัง และมีเป้าหมายที่จะสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่  โดยเฉพาะเพื่อการรองรับเยาวชนที่สำเร็จการศึกษา
    โดยรักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต.ได้ชี้ถึงประเด็นสำคัญๆด้านการพัฒนาพื้นที่ จชต.ในระหว่างการบรรยาย อาทิ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับครัวเรือนและชุมชน  ซึ่งในระดับครัวเรือนในขณะนี้ ได้มุ่งพัฒนาให้มีการทำอาชีพเชิงคู่ หรืออาชีพที่หลากหลาย ซึ่งในอดีตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความยากจน เนื่องจากการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยว เช่น กรีดยาง หรือทำประมงเพียงอย่างเดียว ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ในการประกอบอาชีพเชิงคู่ โดยเฉพาะสวนยาง ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นสวนผสมผสานคือ ฟาร์มสวนยาง  อีกทั้งในส่วนของชุมชน ได้เร่งรวมกลุ่มในลักษณะวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของผลผลิตในขั้นต้น ให้มีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น วิสาหกิจเลี้ยงไก่เบตง วิสากิจประมงพื้นบ้านหรือชายฝั่งต้นแบบ และวิสาหกิจแปรรูปยางพารา สามารถยกระดับรายได้ของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้า ที่อำเภอหนองจิก กำลังเร่งขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ  ด้วยการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริมการปลูกมะพร้าว เร่งเปิดโรงงานผลิตแปรรูปมะพร้าว คาดว่าจะเปิดในต้นปี 2562 สามารถรองรับการผลิตมะพร้าวได้วันละ 180,000 ลูก ซึ่งจะมีห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเบตง ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยว เช่น สนามบินเบตง จะสร้างเสร็จในปลายปี 2562 ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมให้มีความสะดวก สวยงามมากขึ้น และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น ประชาชนเบตงจะมี sky walk คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2562 เช่นกัน ซึ่งจะเป็น land mark แห่งใหม่ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้มีความสมบูรณ์ที่สุด เร่งสร้างร้านค้าปลอดภาษี ปรับปรุงสถานีรถไฟ สถานีขนส่งจังหวัดนราธิวาส เร่งขยายถนนให้มีความสะดวกในการเดินทางไปสนามบิน
    และด้านการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้เข้าด้วยกัน ในลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก (Southern Eastern Corridor: SEC) เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความก้าวหน้าที่จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ และทำให้นักศึกษามีโอกาสในการมีอาชีพ แม้หลายคนจะเรียนด้านศาสนา แต่นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะเพิ่มเติมได้ เช่น ภาษา และธุรกิจ ก็จะเข้าสู่การแสวงหาอาชีพที่มั่นคงได้เช่นกัน
    ทั้งนี้ตัวแทนนักศึกษาได้กล่าวขอบคุณคณะฯพร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางมาเป็นครั้งที่สองของรักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. และคณะในครั้งนี้ ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นมิตร อบอุ่น สามารถเปลี่ยนความคิดและมองรัฐในแง่ที่ดีขึ้น โดยจะเป็นการวางรากฐานในการร่วมพัฒนาบ้านเกิด เพื่อให้ภาคใต้บ้านเรา กินดี อยู่ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ศอ.บต. ยังมีการเชื่อมต่อขยายผลแก่นักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดย ศอ.บต. ได้จัดทำบัตรประจำตัวนักศึกษา ทำให้ทุกคนไว้ใจและมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น ทั้งนี้โครงการที่ ศอ.บต.จัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทยในต่างแดนที่ผ่านมาเป็นการแนะแนวอาชีพและการศึกษา ทำให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาในต่างประเทศกับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ตรง ซึ่งไม่เคยมีหน่วยงานใดจัดขึ้นมาก่อน โดยการดำเนินงานของ ศอ.บต.และสมช. ทำให้นักศึกษาทุกคนมีความยินดีและพร้อมที่จะกลับไปร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
    นอกจากนี้ นักศึกษาหลายคนยังแสดงความรู้สึกหลังรับฟังการบรรยายว่า มีความสุขและสามารถมองเห็นอนาคตและทิศทางการพัฒนาของตนเองอย่างชัดเจน
ต่อมา คณะได้เดินทางไปยังทำเนียบเอกอัครราชทูต ประจำกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เพื่อหารือร่วมกับนายพรพงษ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอัมมาน โดยพบว่ามีนักเรียนไทยร้อยละ 95 เรียนกฏหมายชารีอะฮ์ และนักศึกษาสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี อีกทั้งจอร์แดนเป็นประเทศที่เดินทางตามแนวสายกลาง (moderate) จึงเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะด้านภาษาเพื่อเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้ อีกทั้งสถานทูตมีกิจกรรมและโครงการ ที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพของนักศึกษา เช่น โครงการอบรมภาษาอังกฤษ อบรมทางธุรกิจ และการตัดต่อวิดีโอ สร้างสรรค์สื่อมัลติมิเดีย จึงทำให้สถานเอกอัครราชทูต ประจำกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน เป็นสถานทูตตัวอย่างในการดำเนินโครงการของกระทรวงการต่างประเทศ
    ทั้งนี้ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ศอ.บต.ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนต้องหาแนวทางในการให้นักศึกษามีที่ยืน ซึ่งสถานทูตจอร์แดนได้ส่งเสริมทักษะแล้วนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์กว่า 25 ประเทศ จึงทำให้จอร์แดนเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบ ที่สามารถเชื่อมต่อในภาคธุรกิจ มีนักศึกษาให้ความร่วมมือ และมีโอกาสในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีการเปิดรับสมัครนักศึกษาที่ไฝ่เรียนไฝ่รู้ในทางอาชีพ ซึ่งหากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างผลให้เป็นรูปธรรมได้ในอนาคต

 

 112 total views,  1 views today