Select Page

    “วัคซีนไม่ฮาลาล” เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักศาสนาของพ่อแม่ผู้ปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วน ที่ไม่ยอมนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์กำหนด จึงกลายเป็นสาเหตุหลักก่อให้เกิดการเสียชีวิตของเด็ก 10 ราย และป่วยมากถึง 1,130 ราย ในห้วงเวลาไม่   ถึงปี ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 กลายเป็นประเด็นร้อน เกิดการตั้งคำถาม และการรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักในประเทศ

    รัฐบาล จึงมีคำสั่งเร่งด่วน ให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งมีบทบาทประสาน แก้ไขปัญหาในพื้นที่ผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำศาสนา ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้ปัญหาโรคหัดระบาดหนัก ในพื้นที่อำเภอกาบัง  ยะหา และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา และพื้นที่อื่นในละแวก “เบาบางลง”

    พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร  รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต.     เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ศอ.บต.   เป็นศูนย์กลางของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนและ ‘แก้ไขปัญหาโรคหัดให้ได้’ เพราะการแก้ไขปัญหาในมิติด้านการแพทย์อย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในขณะนี้ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชน   ในพื้นที่พร้อมสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อแก้ปัญหาการเกิดโรคอื่นๆ ในเด็กในอนาคต

    แคมเปญ “ดูแลรักษา มาตรการควบคุมโรค และการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน”  จึงดำเนินการขึ้น โดยมี ศอ.บต. เป็น หัวหน้าห้อง ในการนำทัพ เร่งรัดและประชุมร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อติดตามและหารือร่วมกันในการหาทางออกของเรื่องนี้

    “กิจกรรมเคาะประตูบ้านสู้หัด” เป็น 1 ในมาตรการ เพื่อแก้ไขและลดอัตราการป่วยโรคหัดในพื้นที่ ตามมาตรการ 4 เคาะ คือ เคาะผู้สัมผัส  เคาะประตูโรงพยาบาล เคาะประตูบ้านฉีดวัคซีน และเคาะประตูโรงเรียน ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อลดการแพร่ระบาดโรคหัดในเด็กของทีมแพทย์ในพื้นที่

    ซึ่ง นางอามีเนาะห์ มะลิแต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทำนบ ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เผยว่า การออกแผนลงพื้นที่ตามหมู่บ้านประชาชนในหมู่บ้านที่เข้าใจก็จะให้ความรู้ซึ่งทางโรงพยาบาลจะตั้งศูนย์ในจุดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น บริเวณมัสยิด แต่ถ้าเป็นเคสยากๆหรือบ้านที่ต้องทำความเข้าใจต้องลงพื้นที่ เคาะประตูบ้านในแต่ละหลัง

    ขณะที่ นายแพทย์มูหมัดดาโอ๊ะ เจะเลาะ ที่ปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยว การแพทย์และสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนว่า เป็นมาตรการหนึ่ง      ที่จะป้องกันการติดเชื้อของเด็ก โดยประโยชน์ของวัคซีนในทางการแพทย์นอกจากจะช่วยป้องกันโรคแล้ว ยังเป็นวิธีการขจัดโรคจากคนอีกด้วย ในส่วนหลักการศาสนาได้ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีและส่งเสริมให้ป้องกันโรค ดีกว่าปล่อยให้เป็นโรคแล้วไปรักษา

    ข้อมูลดังกล่าว สอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของนายอาหาหมัดอับดุลห์ หะยีมะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ     จังหวัดนราธิวาส  เผยว่า วิชาการทางการแพทย์มีวิวัฒนาการความก้าวหน้าและล้ำสมัย ซึ่งวัคซีน เป็นหนึ่งในตัวยาในการป้องกัน

    “ในหลักของศาสนาอิสลามการป้องกันถือว่าเป็นเรื่องของการศรัทธาเพราะการศรัทธานั้นไม่ใช่การปล่อยปละละเลยไม่ดูแล เป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลาม   สั่งห้ามแต่อิสลามสอนให้ผู้ภักดีทั้งหลายต้องสุขทั้งกายและทั้งใจ เพราะฉะนั้นการสุขทั้งกายและทั้งใจนั้นจะต้องให้สุขภาพดีมาเป็นอันดับแรกเพื่อให้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพึ่งยา ซึ่งศาสนาอิสลามอนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนได้เพื่อให้โรคทุเลาลง”

    อย่างไรก็ตามขณะนี้มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตามลำดับเด็กในพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง การแพร่ระบาดของโรคหัดลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับความร่วมมือและการบูรณการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เพื่อดูแลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พี่น้องในพื้นที่

    ปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคหัด คือความเชื่อที่คลาดเคลื่อนของประชาชน ที่ถูกฝังรากอยู่ในวิถีความเป็นอยู่ และมีเรื่องของศาสนามาเกี่ยวข้อง      จึงเป็นความท้าทายของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเร่งหาแนวทางในการ ‘ทลาย’  ความไม่เข้าใจและอุปสรรค เพื่อนำมาสู่การคลี่คลายปัญหาให้เบาบางลงด้วยการบูรณาการการทำงานในทุกมิติ โดยการขับเคลื่อน “การพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาชายแดนใต้” และคาดว่า ในปี 2563 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นพื้นที่ปลอดโรคหัดโดยสมบูรณ์

 116 total views,  1 views today