Select Page
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี “โครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 43” โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะนายกมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ส่วนราชการ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ตลอดจนครอบครัวอุปถัมภ์ และเยาวชนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เข้าร่วมกว่า 320 คน ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 43 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน จำนวน 320 คน จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และจังหวัดสงขลา (เฉพาะ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาทวี จะนะ เทพา และอำเภอสะบ้าย้อย) โดยเยาวชนจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 26 ตุลาคม 2567
 
พลเอก สุรยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 43 โดยเน้นย้ำว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ที่จะได้มีโอกาสช่วยกันทำประโยชน์เพื่อสังคม พร้อมทั้งได้กล่าวถึงคำขวัญของโครงการฯ “เกิดมาต้องทดแทนคุณแผ่นดิน” ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่จะทำให้คนไทยช่วยกันทำความดีเพื่อประเทศชาติ นอกจากนี้คำว่า “ความเป็นไทยและความเป็นธรรม” สะท้อนว่า ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดหรือมีความเชื่อศาสนาใด เราทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องรักสามัคคีดูแลชาติบ้านเมือง ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แม้ว่าเราทุกคนมีความต่างกัน แต่หากทุกคนเข้าใจซึ่งกันและกันก็จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังที่เราเรียกว่า “สังคมไทยพหุวัฒนธรรม”
 
อย่างไรก็ตามโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากดำริของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กองทัพทุกเหล่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นำเยาวชนมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวอุปถัมภ์และชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรง และมีความเข้าใจบริบทของสังคมประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 229 total views,  1 views today