วันนี้ ( 21 พฤศจิกายน 2566 ) ที่ โรงแรมเซาท์เทอร์น แอร์พอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กรและจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และมอบนโยบายจุดเน้นการขับเคลื่อนงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการสำนัก/กอง บุคลากร เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. เข้าร่วม
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กรและจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จัดโดย กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2566 โดยมีวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ มาให้ความรู้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กร การทบทวนแผนงาน โครงการ กิจกรรม รวมถึงกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของ ศอ.บต. ให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นบุคลากร ศอ.บต. จากทุกสำนัก/กอง/ศูนย์/สถาบัน รวมทั้งสิ้น 60 คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร เกี่ยวกับภารกิจเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ นโยบายยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กร ทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจประเด็นยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ กล่าวว่า ในเรื่องของยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติราชการ เป็นแนวทางในการให้เรานั้นสามารถทบทวนและเห็นทิศทางได้อย่างชัดเจนร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือการ Action การทำมันออกมาด้วยมือซึ่งเราต้องช่วยกัน โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ 3 แนวทาง 3ส ได้แก่ ส่งเสริม สร้างสรรค์ ส่วนร่วม “ส่งเสริม” คือการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก การพัฒนาเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค การพัฒนาสังคม การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สร้างสรรค์” คือ การสร้างสรรค์สังคมที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกศาสนิก ให้อยู่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม การอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และ “ส่วนร่วม” คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน การสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ในประเทศ และต่างประเทศ มีส่วนร่วมกันเองภายในองค์กร การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคประชาชน เป็นหัวใจในการทำงานเป็นทีม และมองเพื่อนร่วมงานเป็นเหมือนครอบครัว
140 total views, 3 views today