Select Page

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2566) ที่ โรงแรมเซาท์เทอร์นแอร์พอร์ต หาดใหญ่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการบูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2567-2570) โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้าร่วม

สืบเนื่องจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี มีดำริให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ประสานงานร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ศอ.บต. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการบูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2567-2570) เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และทำความเข้าใจในการเก็บข้อมูลที่ละเอียดและเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุม กพต. ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยการประชุมในครั้งนี้มีทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์มาเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในเรื่องของการจัดทำข้อมูลครัวเรือนยากจน การวิเคราะห์ฐานข้อมูล การวิเคราะห์ฐานทุน รวมทั้งมีการแบ่งกลุ่ม Workshop อีกด้วย

นายชนธัญ แสงพุ่ม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนัก ป.ย.ป. ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ศอ.บต. และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยต้องเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และจากการดำเนินการที่ผ่านมาของ ป.ย.ป. ร่วมกับ อว. พบว่า มีกระบวนการเก็บข้อมูลที่ละเอียดและมีการวิเคราะห์ความยากจนด้วยฐานทุน 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร ทุนการเงิน ทุนกายภาพและ ทุนสังคม ทำให้สามารถระบุได้ว่าแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรอะไรที่เป็นจุดเด่นและสามารถใช้ข้อมูลในการวางแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ได้ จากองค์ความรู้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของ ป.ย.ป. รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของ ศอ.บต. ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

นายชนธัญ แสงพุ่ม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานจะต้องดำเนินการเร่งด่วน (Quick win) ให้สำเร็จใน 100 วัน ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบด้วย การสอบทานข้อมูลคนยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยยึดฐานข้อมูลคนยากจนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นฐานข้อมูลหลัก ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีจำนวนคนยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากฐานข้อมูลดังกล่าว จำนวน 107,356 คน โดยในการสอบทานข้อมูล ศอ.บต. จะใช้กลไกบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ มีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ เพื่อกำหนดพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาคนยากจนในพื้นที่ ให้เป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 4 ปี มีการจัดการข้อมูลเป้าหมายในการดำเนินการ เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพเป้าหมาย โดย บพท. จะใช้กลไกของมหาวิทยาลัยในพื้นที่แต่ละจังหวัดรับผิดชอบเป้าหมายในจังหวัดนั้นพร้อมวิเคราะห์ความพร้อมของเป้าหมาย มีการวิเคราะห์แนวทางการช่วยเหลือ ศอ.บต.จะประสานพาณิชย์จังหวัดและเครือข่ายภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการสินค้าประเภทต่างๆให้ ป.ย.ป. มาประกอบการวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานทั้งในงานฝีมือ ภาคบริการ และภาคการผลิต นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือ รวมทั้งมีการกำกับและติดตามผลการดำเนินงาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานเพื่อกระจายการดำเนินการช่วยเหลือไปยังส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำหรับในระยะกลางและระยะยาว ศอ.บต. และ ป.ย.ป. ในฐานะ หน่วยงานร่วมดำเนินการและฝ่ายเลขานุการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทุกสามเดือนและสรุปผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่มีความพร้อมรับการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน บพท. จะมีการนำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่มีความพร้อมดังกล่าวเข้าสู่การวิเคราะห์โดยใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ต่อไป

 338 total views,  1 views today