Select Page
จากความร่วมมือของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ได้ร่วมกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจ “คาเฟ่อเมซอน” ส่งเสริมและผลักดันการสร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าสามารถผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ สร้างแบรนด์กาแฟให้เป็นที่ต้องการของตลาด คงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่อนาคตจะสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
 
โดยกระบวนการพัฒนาและผลสำเร็จที่ผ่านมาได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟโรบัสต้าให้กับเกษตรกรไปแล้วรวมจำนวน 30,154 ต้น คิดเป็น 760 ไร่ ประสานภาคธุรกิจรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งปี 2566 ได้ดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชน จำนวน 200 กิโลกรัม เพื่อทดสอบคุณภาพและพัฒนารสชาติกาแฟให้เป็นอัตลักษณ์ของในพื้นที่ อีกทั้งยังได้สนับสนุนโรงตากอบพาลาโบล่าโดม ควบคุมความชื้นและรสชาติ พัฒนาศักยภาพการผลิตผ่านการอบรมเดือนละ 1 ครั้ง ดำเนินการรองรับผลผลิตกาแฟอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นชายแดนใต้ภายใต้ร้าน Café amazon สาขา ศอ.บต. โดยมีคอนเซ็ปต์ “นกกระดาษ” ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของ “สันติภาพ” ทั้งนี้คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษากาแฟพื้นเมือง /กาแฟโบราณ เก็บรักษาพันธุ์ ศึกษาการเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อจากต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้าที่แข็งแรง ให้ผลผลิตสูงมีภูมิต้านทาน สามารถเจริญเติบโตได้ดี ทนทานต่อสภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
จากผลการดำเนินการข้างต้นส่งผลให้ศอ.บต. สำนักงานเกษตร อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัล เลิศรัฐประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้ชื่อผลงาน “วิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อย ยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จนคนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน” การรับซื้อและพัฒนารสชาติกาแฟพื้นถิ่น/กาแฟ 150 ปี
 
ทั้งนี้ในปี 2567 จะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในแปลงให้สามารถผลิตกาแฟและมีผลผลิตที่เฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น ส่งเสริมให้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ เช่น กาแฟดิบ กาแฟสด ชาดอก ผ้ามัดย้อมจากใบกาแฟสบู่และสครับจากกากกาแฟและเมล็ดกาแฟที่ไม่ใช้ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลบาโหยและตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา นอกจากนี้จะมีการขยายจุดเรียนรู้การทำกาแฟคุณภาพรวบรวมผลผลิตกาแฟในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 จุด และขยายพื้นที่ปลูกใหม่และปลูกเดิมในพื้นที่ภายใต้การจัดการแปลงกาแฟคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ต้น พร้อมจัดหาเครื่องวัดความชื้น เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพมาตรฐานตลาดสากล ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ จำนวน 2 พื้นที่ได้แก่อำเภอสะบ้าย้อย “จิบกาแฟ แลถ้ำ” และอำเภอธารโต “จิบกาแฟ ชมหมอก” ต่อไป

 231 total views,  1 views today