Select Page

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับภูมิภาคใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีอาชีพทางการเกษตร เช่นการทำสวนยาง สวนผลไม้ ประมง และอื่นๆ ซึ่งเป็นการ”ต่อยอด”จากอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นไม่ว่าแผนพัฒนาจะ ส่งเสริมในเรื่องของ “อุตสาหกรรม” และอื่นๆ แต่ สุดท้ายความ”ยั่งยืน”ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังยืนอยู่บนอาชีพเกษตรกรรมนั่นเอง และโครงการ “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนิน ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีใจความว่า ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าไปดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลการทำงานแนวพระราชดำริ โครงการ “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์และความสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

สำหรับ โครงการ “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ของนักเรียนในสถานศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มุ่งหวังให้นักเรียนได้นำความรู้ เทคนิคและทักษะการเพาะปลูกเกษตรที่เป็นอาหารกลางวันของโรงเรียนไปประยุกต์และต่อยอดเพื่อให้มีอาหารที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวในมื้อเช้าและมื้อเย็น นำไปสู่การลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้กับนักเรียนและครอบครัวในระหว่างที่ยังคงศึกษาหาความรู้ในเยาววัย อีกทั้งเป็นการปลูกฝังความรักที่มีต่ออาชีพเกษตรกรรมและสืบสานอาชีพเกษตรกรรมต่อไป และปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการพัฒนาและมีนักเรียนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ประกอบด้วย 1. มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 41 โรงเรียน มีนักเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นนักเรียนเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล นักเรียนต้นแบบด้านการเกษตร จำนวน 49 คน โดยนักเรียนที่ยังอยู่ร่วมโครงการ จะได้รับการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนต้นแบบ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ทุนการศึกษาปีละ จำนวน 20,000 บาท 2. ศอ.บต. ได้นำนักเรียนเข้ารับการศึกษาและพัฒนาตนเองตามแนวทางข้างต้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (เมื่อวันที่ 16 – 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา) และนำนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้ารับการฝึกประสบการณ์การประกอบธุรกิจด้านการเกษตรเบื้องต้น ณ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (เมื่อวันที่ 25 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา) 3. การสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา สาขาเกษตรในสถาบันการศึกษาของรัฐ โดย ศอ.บต. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือรับนักเรียนต้นแบบด้านการเกษตร เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ของคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา มีนักเรียนต้นแบบด้านการเกษตร จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการศึกษา คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขา เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ทุนการศึกษาปีละ จำนวน 40,000 บาท และ 4. การสร้างโอกาสการเข้ารับราชการในสังกัดหน่วยงานของรัฐ โดย ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้ประชุมร่วมกันที่จะส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนต้นแบบเหล่านี้ได้มีโอกาสบรรจุเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและแนวทางการบรรจุเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“อนึ่ง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อทุนการศึกษาดังกล่าว (ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ว่า “วรเกษตรเมธี” อันหมายถึง ทุนการศึกษาเพื่อสร้างนักปราชญ์ด้านการเกษตรผู้เป็นเลิศ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักเรียนทุนการศึกษาแก่นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมนี้ พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับชื่อทุนการศึกษาด้วย อันนำมาสู่ความปลาบปลื้มใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนที่รักอาชีพการเกษตรที่เป็นนักเรียนต้นแบบได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีและผลักดันให้มีโอกาสรับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในหน่วยงานด้านการเกษตร ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการนำหลักและแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงกับสถานศึกษา นำไปสู่ครอบครัว ชุมชน เพื่อมุ่งเน้นลดสารเคมีในการทำเกษตร และทำให้ทั่วถึงไปยังประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างนักเรียนต้นแบบที่นำความรู้ด้านการเกษตรตามแนวทางพระราชดำริฯ จากโรงเรียนไปทำที่บ้านให้เกิดผลเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนได้ต่อไป

 247 total views,  2 views today