Select Page
 
วันนี้ (8 มิถุนายน 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครโภชนาการเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะ และภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่บุคลากรและอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวน 160 คน โดยมีนายสมพร เนติรัฐกร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมพบปะ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฮานีฟะ เจ๊ะอาลี ผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายการศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
นายสมพร เนติรัฐกร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนช่วยกันดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาวะและโภชนาการต่ำ เนื่องจากทุกคนถือเป็นบุคคลสำคัญและที่ทำงานใกล้ชิดกับมารดาหรือผู้ปกครองเด็กที่จะเป็นผู้ให้ความรู้ คำแนะนำช่วยติดตามดูแลเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีโภชนาการที่ดีและพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงทั้งสติปัญญาและร่างกาย เพื่อที่จะสามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการร่วมกันคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ต่อไป
 
ภายหลังจากการอบรมผู้เข้าร่วมได้มีการนำเสนอโครงการตามความต้องการแต่ละบริบทของพื้นที่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผ่านโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเรียนรู้กิจกรรมตามฐานทั้ง 5 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การประเมินปัญหาโภชนาการในเด็กปฐมวัย เพื่อให้สามารถประเมินปัญหาโภชนาการในเด็กปฐมวัยได้ ฐานที่ 2 การดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการกินของเด็กให้รู้จักวิธีดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการกิน ฐานที่ 3 อาหารประจำวัน อาหารว่างสำหรับเด็กและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำอาหารพื้นบ้านและสารอาหารที่มีอยู่ในวัตถุดิบในครัวเรือนและท้องถิ่นให้เข้าใจสารอาหารที่จำเป็นรวมถึงปริมาณที่ควรบริโภคสำหรับเด็กปฐมวัยด้วย ฐานที่ 4 การสร้างวินัยการกินและพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจหลักการสร้างวินัยการกินและพฤติกรรมการกิน ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยและให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองได้ถูกต้อง และฐานที่ 5 การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมการประสานส่งต่อด้านสุขภาพ และสังคมในรายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้อบรมสามารถดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้ รวมถึงสามารถประสานส่งต่อการให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคมได้
 
ทั้งนี้เพื่อต้องการพัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการสำหรับบุคลากรและอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการบริหารจัดการแก้ปัญหาทุพโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 229 total views,  1 views today