Select Page
วันนี้ (8 มิถุนายน 2566) ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคาร ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้อนรับพร้อมให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมกิจกรรมขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล เพื่อการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูง ผ่านการอบรมหลักสูตร เชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือก จำนวน 20 คน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ร่วมกับสถาบันการอาหารไทย ภายใต้การบริหารของนายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) จัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการมีงานทำ สร้างรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาจากฐานราก การเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้วัตถุดิบจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต้นทุนเรื่องฮาลาล สู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อการบริโภคภายในและการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและบริการฮาลาล และยังเปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือก ซึ่งเป็นที่ต้องการของครัวฮาลาลโลกในปัจจุบัน โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวง/กรม ผู้อำนวยการกอง/กลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมต้อนรับในครั้งนี้ด้วย
 
ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการเชฟฮาลาลช้างเผือก เป็นการผลิตคนให้มีศักยภาพ เพื่อเชื่อมต่อในระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลอย่างมั่นคง เป้าหมายหลักสำคัญคือ ให้ไปทำงานเป็นทีมพ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหารและโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสามารถในการทำอาหารในระดับหนึ่งแล้ว และยังมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษด้วย จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะตอบโจทย์ตลาดอาหารฮาลาลในโลกปัจจุบันได้ดี นอกจากนี้วัตถุดิบหลักในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้เชฟทุกคนนำวัตถุดิบเหล่านี้ ไปใช้ในการประกอบอาหารเพื่อให้ผู้คนต่างถิ่นได้รู้ว่าวัตถุดิบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอร่อยอย่างไร และรังสรรค์อาหารฮาลาลออกมา ให้เป็นที่รู้จัก ของชาวโลกต่อไป
 
ด้านนายซูฟี หฤทัยบริรักษ์ หนึ่งในเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) จากจังหวัดสตูล กล่าวความรู้สึกในครั้งนี้ว่า ดีใจมากที่ผ่านการคัดเลือกอบรมเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือกในครั้งนี้ เพราะส่วนตัวประกอบอาชีพเป็นเชฟในร้านอาหารอยู่แล้ว แต่ขาดการอบรมในเชิงรังสรรค์อาหารไทยอย่างจริงจัง การมาในครั้งนี้จะตั้งใจอบรม จะนำวัตถุดิบในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีอยู่ นำไปเผยแพร่ให้รู้จักในระดับโลกให้ได้ และภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลชายแดนใต้ พร้อมเชื่อมั่นว่าการอบรมในครั้งนี่ สามารถยกระดับวัตถุดิบในท้องที่ให้เป็น SOFT POWER และยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่ได้อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม เยาวชน 20 คน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงการเชฟฮาลาลช้างเผือกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้มีความสนใจการทำอาหาร โดยจะแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 ภาค ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน – 31 ตุลาคม 2566 โดย ภาคที่ 1 เป็นการฝึกอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) รวม 228 ชั่วโมง ระยะเวลา 2 เดือนมี กำหนดการฝึกอบรมวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน – 1 สิงหาคม 2566 ณ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และภาคที่ 2 เป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการร้านอาหารไทยและโรงแรมหรือภัตตาคาร ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2566 ณ ร้าน R-HAAN (โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร สถาบันการอาหารไทย) และโรงแรม/ภัตตาคารที่เข้าร่วมสนับสนุนในครั้งนี้

 200 total views,  1 views today