Select Page
วันนี้ (6 มิถุนายน 2566) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมรับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมหารือกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) ถึงมาตรการช่วยเหลือนักษาไทยจากซูดาน จากเหตุสถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน ถึงประเด็นเรื่องการเปิดรับสมัครนักศึกษาไทยจากซูดาน ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมถึงการเทียบวุฒิการศึกษาเป็นต้น โดยมีนางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมประชาสัมพันธ์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและมวลชนสัมพันธ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. และบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมหารือในครั้งนี้
 
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและมวลชนสัมพันธ์ มรย. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักศึกษาไทยจากซูดาน ได้เข้ามาสมัครศึกษาต่อในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 45 คน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาสาขาแพทยศาสตร์ กฎหมายอิสลาม และสาขาอิสลามศึกษา โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สามารถรับนักศึกษาได้ประมาณ 20 คน ส่วนอีก 25 คน ยังต้องหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะยังขาดหลักฐานการสมัคร เอกสารการเทียบโอน หลักฐานสถานะการเป็นนักศึกษาจากซูดาน
 
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและมวลชนสัมพันธ์ มรย. กล่าวอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษา ภายหลังเกิดสงคราม ที่ส่งผลให้ระบบของมหาวิทยาลัยในซูดานเกิดความเสียหาย จึงไม่สามารถนำหลักฐานบางอย่างที่จำเป็นออกมาได้ทั้งหมด จึงประสานหารือกับ ศอ.บต. เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยพร้อมต้อนรับนักศึกษาไทยจากซูดานที่ประสงค์เข้ามาศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง
 
ด้าน นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. จะหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้นักศึกษาไทยจากซูดานเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษาในประเทศไทย และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้อย่างเร่งด่วน ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเทอม ยังคงต้องหารือร่วมกับรัฐบาล ทั้งนี้เบื้องต้นอยากให้มหาวิทยาลัยฯ ให้การช่วยเหลือและดูแลเด็กไทยจากซูดาน ให้สามารถโอนหน่วยกิตให้ได้เสียก่อน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาในประเทศและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับทำงานควบคู่กันไปด้วย
 
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี อธิการบดีฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ อีกครั้ง เพื่อทำเป็นโครงการฯ หาทางออกให้กับนักศึกษาไทยจากซูดาน สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพราะตามหลักแล้วการเทียบโอนรายวิชานั้นจะต้องมีมากกว่า 70% ของรายวิชาที่เหมือนกัน จึงสามารถเทียบโอนได้ ต้องให้แน่ใจว่ามีรายวิชาที่ตรงตามมหาวิทยาลัยราชภัฏสอนหรือไม่ แต่เบื้องต้นจากการสอบถามจากฝ่ายวิชาการฯ พบว่า สามารถเทียบโอนได้เป็นรายบุคคล บางคนมีน้อยถึง 7 วิชา 12 วิชา และมากสุด 15 วิชา แต่ทางมหาวิทยาลัยฯ จะเข้าหารือกับสภามหาวิทยาลัยฯให้เร็วที่สุด เพื่อหาทางช่วยเหลือนักศึกษาทุกคน อาทิ การเปิดห้องเรียนพิเศษ ให้นักศึกษาไทยจากซูดาน สามารถเรียนพร้อมกันทุกคน และการเทียบรายวิชาให้มากที่สุด และเมื่อเทียบโอนเรียบร้อยแล้ว อยากให้มีระยะเวลาการเรียนไม่เกิน 1 ปี เพราะนักศึกษาหลายคนได้เรียนจากซูดานมาแล้ว เพื่อให้ทุกคนเรียนจบได้เร็ว และหางานทำต่อไป สำหรับนักศึกษาจากซูดาน 1 คน ที่เรียนวิชาชีพครู และต้องการเทียบโอนกิตนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ จะหารือกับคุรุสภาไว้ก่อน เพื่อหาช่องทางช่วยเหลืออีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหารือกับนักศึกษาไทยจากซูดานที่สนใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาทุกคน เพื่อทำการแนะแนวให้ความรู้เรื่องระบบการศึกษา ระบบการเทียบโอนรายวิชา เพื่อนำข้อมูลยื่นเสนอผ่านไปยังสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อหาช่องทางช่วยเหลืออื่นๆต่อไป

 319 total views,  1 views today