Select Page

วันนี้ (วันอังคาร ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖) ณ ห้องประชุมโรงแรมปาร์คอินทาวน์ ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เดินทางมาพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือและมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจฐานราก-เศรษฐกิจการเกษตรพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคราวการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ (ฐานราก) จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประมาณ ๑๓๐ คน ประกอบด้วย ประธานสภาเกษตรกรระดับอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิในสภาเกษตรกรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานประจำสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกใหม่เมื่อเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ทั้ง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ตามที่รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้มอบหมายให้กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. พร้อมสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการจัดร่วมกัน โดยมี วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิชาการและภาคประชาสังคมร่วมทีมอย่างครบถ้วน

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับสภาเกษตรกร เพราะมีสมาชิกเกษตรกรมากกว่า ๑ ล้านคน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมมือ-ร่วมใจกัน พัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จและผ่านกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับทุกภาคส่วนทุกระดับ เพื่อให้ได้ข้อเสนอหลักการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเสร็จสิ้นแล้ว ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ก็จะได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อในลำดับแรก ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน ๖ ประเด็น ที่จะให้ประธานสภาเกษตรกรได้ไปปรึกษาหารือร่วมกับสมาชิกในพื้นที่ของตนเอง ได้แก่

เรื่องที่ ๑ ที่ดินทำกินของเกษตรกร ทั้งส่วนของที่ดินส่วนตัวและที่ดินสาธารณะเพื่อพัฒนาระบบเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่

เรื่องที่ ๒ การเสนอให้พักชำระหนี้เกษตรกรทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรฐานรากในระยะ ๓ หรือ ๔ ปี ในระยะยาวของการทำงาน จะมีการจัดทำข้อเสนอแผนจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่เกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้หลักความไว้เนื้อเชื่อใจและต่อยอดสหกรณ์อิสลามในพื้นที่

เรื่องที่ ๓ ศอ.บต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จะไปปรึกษาหารือร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันการศึกษาในพื้นที่และสถาบันอาชีวศึกษา พัฒนา “เครื่องจักรทางการเกษตรที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว” เพื่อเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์บริการเครื่องจักรทางการเกษตรระดับชุมชน” รวมทั้ง ประสานงบประมาณดำเนินการทั้งที่มีอยู่แล้วในระบบและจัดหาเพิ่มเติม การเพิ่มเกษตรกรหน้าใหม่ในพื้นที่

เรื่องที่ ๔ การพัฒนาความรู้ เทคนิคและทักษะทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้มีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ที่สามารถลงมือปฏิบัติทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่าง ๆ จากการขาดความรู้และประสบการณ์ของเกษตรกร ในส่วนนี้ จะมีการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและปราชญ์ชาวบ้าน โดย ศอ.บต. ร่วมกับสภาเกษตรกร จะจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาเกษตรกรชายแดนภาคใต้” พร้อมกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อออกแบบหลักสูตรการพัฒนาและฝึกอบรมที่หลากหลาย เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร” ทุกด้านและทุกจังหวัดในทันทีหลังประชุมนี้ โดย ศอ.บต. จะได้สนับสนุนระบบเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ง่ายมากขึ้น

เรื่องที่ ๕ การพัฒนาระบบชลประทานที่เหมาะสมกับพื้นที่แปลงเกษตรกรรมของเกษตรกร หลังการสำรวจข้อมูลการทำเกษตรกรรมแล้วเสร็จ ก็จะได้ร่วมกันออกแบบแผนงานและวิธีการพัฒนาระบบทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป

เรื่องที่ ๖ การตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้ต้นทุนที่มีศักยภาพของพื้นที่ อาทิ เมืองผลไม้ เมืองปศุสัตว์ เมืองปูทะเล เมืองพลังงานและการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจอาหารฮาลาล นำการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าที่ขาดหายไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรที่สอดรับกับการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของพื้นที่มาเติมเต็มอย่างเหมาะสมและทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม รวมทั้ง เครือข่ายต้มยำกุ้งที่มีความต้องการพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์จำนวนมาก และภาคเอกชนจากต่างประเทศที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญ คือขอให้ร่วมกันคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราซึ่งเป็นรายได้หัวใจหลักของพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาให้เป็นระบบและครบวงจร การแก้ไขปัญหาที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ปัญหาโรคเชื้อราในยางพารา การพัฒนาระบบการจัดเก็บน้ำยางกรณีการสต๊อกปริมาณน้ำยางในพื้นที่และการแปรรูปยางพาราด้วยระบบอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่พร้อมเข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคน ต่างเห็นด้วยและดีใจที่ ศอ.บต. ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างสุดกำลัง พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ ศอ.บต. และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะเป็นโซ่ข้อกลางในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำปัญหาในอดีตมาวางแผนการแก้ไขและการกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่อนาคตที่ดีกว่า โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก ทั้งในส่วนของการสร้างรายได้ และการลดรายจ่าย ที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ พร้อมกันนี้ เห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาเกษตรกรชายแดนภาคใต้” และ “กองทุนพัฒนาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้” และกระบวนการวางแผนและ Road Map กระบวนการและกลไกการขับเคลื่อนการเกษตรและองค์กรการเกษตร ๔ ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกษตรกรกว่า ๑ ล้านคนในพื้นที่ คาดหวังการทำงานและการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรของรัฐที่จะร่วมมือกันตามแผนที่จะเสนอต่อไป ซึ่งเป็นไปตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรตามที่กฎหมายกำหนด และขอบคุณ ศอ.บต. ที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการและกิจกรรมของสภาเกษตรกรและภาคประชาสังคมที่มีภารกิจด้านการเกษตรไปสู่การจัดทำแผนงาน โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

 259 total views,  2 views today