Select Page

วันนี้ (28 มีนาคม 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมจับคู่ (Matching) งานวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำร่องการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมฯ ผ่านระบบ Zoom Meeting พร้อมด้วยนายวิสันต์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. ผศ.ยะโก๊ะ ขาเร็มดาเบะ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยฟาฏอนีและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดยในที่ประชุม มหาวิทยาลัยฟาตอนี ได้มีการนำเสนอรูปแบบการส่งเสริมและการบริหารจัดการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรของเยาวชนกลุ่มเปราะบาง (ไม่มีงานทำ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษารูปแบบการส่งเสริมและการบริหารจัดการเลี้ยงแพะครบวงจรด้วยนวัตกรรมอาหาร Smat Farm และการจัดการสุขภาพ ตลอดจนหนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรและเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่เลี้ยงแพะให้เป็นผู้ประกอบการ Smart Farmer โดยเน้นไปที่ผลผลิตที่จะต้องคำนึงถึงระบบของการเลี้ยงแพะพื้นเมืองรวมถึงนวัตกรรมอาหารจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อก่อให้เกิดการลดรายจ่ายด้านอาหารสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และเกิดการจ้างงานเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่สามารถเป็นอาชีพหลักให้กับกลุ่มเยาวชนที่ไม่มีงานทำตลอดจนเป็นพื้นที่ต้นแบบต่อไป 

 

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นศอ.บต. ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาและได้สนับสนุนทุนให้แก่นักวิจัยรวมจำนวนทั้งสิ้น 39 ทุน ซึ่งในปี 2566 มีงานวิจัยจำนวน 3 ผลงานที่พร้อมนำร่องในการนำไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจงานของ ศอ.บต. และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ได้แก่ 1.งานวิจัยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราฯ 2.งานวิจัยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมืองเพื่อยกระดับรายได้ของเยาวชนกลุ่มเปราะบาง และ3.งานวิจัยพัฒนาวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (หวายเทียม) ตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG

 

ทั้งนี้เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรทางด้านงานวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่าย กลไกในการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่นำไปสู่เป้าหมายให้กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน ตลอดจนร่วมกันเผยแพร่ประยุกต์ผลการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามข้อเสนอนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 186 total views,  1 views today